"วิโรจน์" จี้รัฐบาลเร่งคำตอบจากเมียนมาส่งตัว 4 คนไทยกลับประเทศโดยเร็วฃ

2024-12-11 04:00:09

"วิโรจน์" จี้รัฐบาลเร่งคำตอบจากเมียนมาส่งตัว 4 คนไทยกลับประเทศโดยเร็วฃ

Advertisement

"วิโรจน์"  จี้รัฐบาลเร่งคำตอบจากเมียนมาส่งตัว 4 คนไทยกลับประเทศโดยเร็ว แนะนายกฯ ต่อสายตรง "มินอ่องหล่าย"  ส่วน "ภูมิธรรม" ต้องแสดงภาวะผู้นำมากกว่านี้ ใช้เวทีรัฐมนตรีอาเซียน 20 ธ.ค. เจรจา รมต.ต่างประเทศเมียนมา

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.67 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 30 พ.ย. เรือลาดตระเวนเมียนมายิงเรือประมงไทย 15 ลำ นอกชายฝั่งจังหวัดระนอง เป็นเหตุให้คนไทยเสียชีวิต 1 ราย และกองทัพเรือเมียนมาจับกุมลูกเรือไทยอีก 4 คน ในขณะนี้ทราบว่าลูกเรือไทยทั้ง 4 คน ถูกนำตัวส่งไปยังเกาะสอง บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้กลับประเทศไทยเมื่อใด

นายวิโรจน์ ระบุว่า ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ตนได้ทำหนังสือด่วนไปยังศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กระทรวงการต่างประเทศ และกองทัพเรือ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และลำดับเหตุการณ์ของกรณีพิพาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเรือประมงไทยจะรุกล้ำน่านน้ำของเมียนมาหรือไม่ การใช้เรือลาดตระเวนยิงเข้าใส่เรือประมงในลักษณะที่เกิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงเกินไป ตนเข้าใจดีว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องใช้การทูตนำการทหาร และต้องใช้การเจรจาในทุกกลไกที่มี โดยเรื่องที่เร่งด่วนที่สุดคือการพาลูกเรือไทยทั้ง 4 คนกลับประเทศไทยให้ได้ รวมทั้งการชดเชยเยียวยาลูกเรือไทยที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จำเป็นต้องมีแสดงภาวะผู้นำที่ชัดเจน ว่าเราไม่อาจยอมรับการใช้กำลังที่เกินกว่าเหตุอย่างกรณีที่เกิดขึ้นได้ และต้องการให้เมียนมามีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะปล่อยตัวลูกเรือประมงไทยเมื่อใด และจะรับผิดชอบต่อการเสียชีวิต และการได้รับบาดเจ็บของลูกเรือประมงไทยอย่างไร ในเบื้องต้น รมว.กลาโหม ต้องใช้กลไกของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย-เมียนมา (Township Border Committee: TBC) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปล่อยตัวลูกเรือประมงไทย หากยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ก็มีความจำเป็นต้องประสานงานให้กระทรวงการต่างประเทศเชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย มาเข้าพบเพื่อหารืออีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปล่อยลูกเรือประมงไทยอย่างมาก และต้องการคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้จากเมียนมา

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า วันที่ 20 ธ.ค. นี้ จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศในกลุ่มอาเซียนจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมียนมา ดังนั้น รมว.กลาโหม ควรใช้เวทีการประชุมนี้เรียกร้องไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ที่เดินทางมาร่วมประชุม ให้เร่งส่งตัวลูกเรือประมงไทยกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว หากยังพบว่าเมียนมาไม่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนี้ รมว.กลาโหม มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพบ รมว.กลาโหมของเมียนมา เพื่อขอเจรจาเรื่องนี้ด้วยตนเอง รวมทั้งอาจมีความจำเป็นต้องแจ้งความประสงค์ ที่จะขอจัดส่งเรือหลวงล่องลมของทัพเรือภาค 3 ไปรับตัวลูกเรือประมงไทยที่เกาะสองด้วย

รองหัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวด้วยว่า สำหรับแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งหารือแบบทวิภาคีกับมินอ่องหล่าย ผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมา ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (The 8th Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Summit: The 8th GMS Summit) และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 (The 10th Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: The 10th ACMECS Summit) เมื่อวันที่ 6-7 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายกฯ ควรต่อสายตรงถึงมินอ่องหล่ายได้ เพื่อคลี่คลายปัญหานี้โดยเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้ยืดเยื้อแบบนี้ สำคัญที่สุด ควรมีการบรรจุวาระนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะถึงนี้ด้วย เพื่อให้ ครม. ร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว หากทางเมียนมาไม่ตอบรับข้อเสนอใดๆ จากรัฐบาลไทยเลย ไม่มีความพยายามอย่างเป็นประจักษ์ที่จะส่งตัวลูกเรือประมงไทยกลับสู่ประเทศไทย หากรัฐบาลไทยได้ใช้ความพยายามทางการทูตและได้เจรจาทุกวิถีทางแล้ว รัฐบาลต้องพร้อมที่จะทบทวนความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เมียนมา ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ไม่ใช่ปล่อยให้ชีวิตคนไทยต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่รู้ชะตากรรมแบบนี้