"ประยุทธ์" จ่อเสนอ พท. ถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

2024-12-10 14:21:02

  "ประยุทธ์" จ่อเสนอ พท. ถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

Advertisement

"ประยุทธ์" จ่อเสนอ พท. ถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ 

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.67 นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มีเนื้อหาให้อำนาจ ครม.พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เพื่อสกัดการรัฐประหารว่า จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมาก ดังนั้นในวันที่ 12ธ.ค.นี้ ที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า จะเสนอต่อพรรค เพื่อขอถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่ ถ้าพรรคอนุญาตจะไปขอถอนร่างต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันทันที เพราะเป็นกฎหมายที่ตนและคณะเป็นผู้เสนอในนามส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพรรคเพื่อไทย ในการรับฟังความเห็นของประชาชนตาม มาตรา77 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ไม่สามารถบรรจุวาระเข้าสภาฯได้ ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอรอดูความเห็นประชาชน ที่จะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นตาม มาตรา77 ในวันที่ 1 ม.ค.68 ก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทบทวนกรณีให้ ครม.มีส่วนร่วมการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลหรือไม่ เพราะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกองทัพ นายประยุทธ์ กล่าวว่า ตนขอรอฟังความเห็นประชาชนให้สิ้นสุดก่อน ถึงจะรู้ต้องแก้ไขประเด็นใดบ้าง ถ้าสังคมมองว่า ครม.ควรถอยก็ต้องรับฟัง ดันทุรังไปแล้ว ก็เสนอกฎหมายไม่ได้อยู่ดี ยืนยันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แทรกแซงกองทัพ เนื้อหาร่างพ.ร.บ.ที่ให้ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งนายพล ไม่ได้แทรกแซงกองทัพ การเสนอแต่งตั้งทหารระดับนายพลจะดำเนินการโดยคณะกรรมการของส่วนราชการนั้นๆเป็นผู้เสนอชื่อนายพลตามหลักเกณฑ์กระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณา ทุกอย่างมีระเบียบกระทรวงกลาโหมควบคุมขั้นตอนแต่งตั้ง ไม่ใช่ครม.แต่งตั้งเอง หรือกรณีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้ หากกระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อสกัดการรัฐประหารนั้น ก็ไม่ใช่ปมด้อยกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นการใช้อำนาจยับยั้งการรัฐประหาร เหมือนที่สส.เกาหลีใต้ ใช้อำนาจยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี หลายประเทศมีมาตรการเข้มข้นสกัดการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตามเมื่อมีเสียงคัดค้านมาก ก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าได้มาสัก 30-50 เปอร์เซนต์ ก็คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่เอาด้วยกับร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มองว่า แค่การเมืองไม่โกง ก็ไม่เกิดรัฐประหาร นั้น นายประยุทธ์ กล่าวว่า เรามีเจตนาอยากให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทในการร่วมสกัดรัฐประหาร แต่เมื่อพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ก็ต้องนำมาทบทวนใหม่ การที่หลายส่วนมองว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถสกัดการยึดอำนาจได้ เป็นความเห็นแต่ละคน ส่วนตัวมองว่า ช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง เหมือนที่เกาหลีใต้ ที่ให้สภาฯมีส่วนร่วมการยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า เกรงว่า การเดินหน้าเสนอกฎหมายฉบับนี้ จะสร้างความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพหรือไม่ นายประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า  ผมไม่ได้กลัวขัดแย้งกับกองทัพ แต่ต้องเคารพเสียงของสังคม ถ้าสังคมไม่เอาด้วย ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่