"อนุทิน" ไม่เห็นด้วย ก.ม.สกัดปฏิวัติ ระบุนักการเมืองต้องทำตัวให้ดี อย่าไปสร้างเงื่อนไขให้ปฏิวัติ
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยมีข้อสังเกตเรื่อง การแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.เหล่าทัพ และการสกัดการทำปฏิวัติ ว่า ถ้าเป็นเรื่องการสกัดการปฏิวัติตนไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะสกัดการปฏิวัติ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมือง ต้องทำหน้าที่ให้ดี ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ อย่าให้แตกความสามัคคี เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมือง เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็จะปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือการฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ดังนั้นในประเด็นนี้ ภท. ไม่เห็นด้วย มองว่าไม่จำเป็น ส่วนจะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามกระบวนการ
ต่อมาเวลา 15.00 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า เป็นสิทธิของ ส.ส. ที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสานงานจากพรรคเพื่อไทย และยังไม่มีรายละเอียด ยังไม่ทราบหลักการและเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในมุมมองของพรรคภูมิใจไทยขณะนี้ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาใหญ่ของประชาชนคือปัญหารายได้และความยากจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้มากกว่า การจัดระเบียบ หรือการจัดโครงสร้าง การบริหารราชการกลาโหมและพรรคภูมิใจไทย ไม่มีความชำนาญ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะให้ความเห็นได้ เราจึงขอสงวนความเห็นส่วนนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอร่างพ.ร.บ. ก่อน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า แต่หลักการสำคัญที่ควรต้องมีคือ การเมืองไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษและเป็นสถาบันสำคัญสำคัญของชาติ ที่มีต้องมีกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะ มากำกับดูแลการบริหาร เพื่อความมั่นคงของชาติ การช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีสถานการณ์วิกฤติ ทั้งจากภัยความมั่นคง และภัยธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นภารกิจหลักของกองทัพ เรื่องการออกกฎหมาย เพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ต้องดูความเป็นจริงและในทางปฏิบัติ สามารถต่อต้าน สกัดกั้น ได้หรือไม่ และจำเป็นต้องออกกฎหมายมาอีกหรือไม่ในเมื่อรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติ ห้ามผู้ใดกระทำการปฏิวัติ รัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ขนาดรัฐธรรมนูญ ยังห้ามไม่ได้ ออกกฎหมายใหม่มาจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่