"สนธิ" ยื่น 6 ข้อเรียกร้องนายกฯ จี้ยกเลิก "MOU44-JC44" ขีดเส้น 15 วัน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.67 นายสนธิ ลิ้มทองกุล พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และคณะได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีหยุดการปฏิบัติหน้าที่การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปราชาณาอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง ตลอดจนประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1985 และกฎหมายอื่น รวมทั้งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
นายสนธิ กล่าวว่า ที่มาร้องเรียนเพราะวางเงื่อนไขว่าถ้าไม่ดำเนินการจะเกิดอะไรขึ้น และจะร้องเรียนต่อไปที่รัฐสภา ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544 ประธานสภาฯ ส.ส. ส.ว. ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขายชาติ อนาคตข้างหน้าแผ่นดินเปลี่ยนไป ผู้มีอำนาจชุดใหม่เข้ามา ก็สามารถใช้ประเด็นนี้เล่นงานทางกฎหมาย ส.ส. ส.ว. บางคน และ ครม. ทุกคนในข้อหาขายชาติ รวมถึงการจะไปร้องเรียนที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ข้าราชการทุกคนสำนึกว่า พระบรมราชโองการ พ.ศ. 2516 จำเป็นต้องยึดถือให้มั่น วันนี้ไม่ได้ปลุกระดมเลย แต่มากันด้วยใจ หากถึงเวลาจะมามากกว่านี้ ร้อยเท่า พันเท่า อีก 15 วันจะมาทวงถามว่าเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้ว โดยเปิดโอกาสให้เปิดเวทีสาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ใดก็ได้ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง นำนักวิชาการจากไหนก็ได้ และไม่ต้องการให้งุบงิบในสภาฯ ตนจึงจำเป็นต้องไปร้องเรียนต่อประธานรัฐสภา และกล่าวโทษ ส.ส. ที่ให้การสนับสนุน MOU 2544
สำหรับ 6 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย
1.ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล
2.ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตราหนึ่งและมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่
3. หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเจรจาตาม MOU 2544 และ JC 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที
4.แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม.จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ
5.ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง
6.ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชนเรื่อง MOU 254 และ JC 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณากลับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้พิจารณา