"ราชทัณฑ์" แจ้งเหตุพักโทษ "เสี่ยเปี๋ยง" เหตุเจ็บป่วยร้ายแรง ปลูกถ่ายไต กินยากดภูมิคุ้มกัน มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงถึงตาย จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด
จากกรณีที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ "เสี่ยเปี๋ยง" ที่ได้รับการพักโทษและปล่อยตัว รวมถึงกล่าวถึงค่าเสียหายที่ต้องชดใช้ให้กับรัฐนั้น
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ได้ปล่อยตัวพักการลงโทษ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม เหลือกำหนดโทษปัจจุบัน 21 ปี 11 เดือน 38 วัน นับแต่วันที่ 27 ต.ค.58 หักขัง 1,191 วัน จำมาแล้ว 12 ปี 1 เดือน (นับถึงวันที่ 20 ส.ค.67) จะพ้นโทษวันที่ 27 ก.ค.77 ซึ่งนายอภิชาติ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมที่ได้รับการพิจารณาจากคณะทำงานเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ในชั้นเรือนจำ ตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ และได้เสนอให้คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ พิจารณาตามลำดับและเห็นควรให้พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากนายอภิชาติ มีคุณสมบัติเข้าตามหลักเกณฑ์กรณีเจ็บป่วยร้ายแรง ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ,โรคความดันโลหิตสูง ,โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับชนิดรุนแรง ,โรคต่อมลูกหมากโต ,โรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท , โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ,โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดสมองตีบ
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้ประชุมพิจารณาพักการลงโทษ ครั้งที่ 8/2567 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.67 มีมติเห็นชอบ พักการลงโทษนายอภิชาติฯ เนื่องจากนายอภิชาติได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต (เปลี่ยนไต) จึงต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ไตสามารถเข้าได้กับร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงอันอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบกับในเรือนจำมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ สภาพของเรือนจำไม่สามารถที่จะควบคุมดูแลผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงเช่นนี้ได้ ประกอบกับได้รับการจำคุกมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษปัจจุบัน จึงได้พักการลงโทษ
กรมราชทัณฑ์ มีหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังตามคำพิพากษาของศาล การให้การดูแลรักษาผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทั้งจากสถานพยาบาลในเรือนจำ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพที่สูงกว่าตามลำดับ ทั้งนี้ตามสภาพความรุนแรงของการเจ็บป่วย ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 และมีอำนาจในการบริหารโทษภายใต้กฎหมายเกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษ และได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ พ.ศ. 2562 และประกาศ กรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการหรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีโครงการพักการลงโทษกรณีพิเศษ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1) โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป 2) โครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ หลักสูตร การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้ต้องขัง ภายใต้โครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ 3) โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษจากเดิมจะมี 9 โครงการ แต่ได้ยกเลิกไปแล้ว 1 โครงการ และงดดำเนินการ 5 โครงการ ในการนี้ โครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป มีการดำเนินการมาตั้งแต่ 2546 อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้กฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายที่มีคุณสมบัติและเข้าหลักเกณฑ์อย่างเท่าเทียมกัน มิได้ให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด โดยกรมราชทัณฑ์ได้มีการปล่อยตัวพักการลงโทษกรณีพิเศษ ปี พ.ศ. 2565 จำนวน 18 คน ปี พ.ศ. 2566 จำนวน 26 คน และปี พ.ศ. 2567 จำนวน 27 คน
กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังที่อยู่ในการควบคุมดูแลเกือบ 3 แสนคน ทำให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังในกรณีพักการลงโทษ ลดวันต้องโทษ และปล่อยตัวพ้นโทษ เป็นปกติทุกวัน มิได้ปกปิดในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใ ทั้งนี้การประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษในเดือนสิงหาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบการพักการลงโทษแบบปกติ รวม 281 ราย และกรณีมีเหตุพิเศษ รวม 40 ราย ดังนั้น กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า กรณีการปล่อยตัวของนายอภิชาติฯ เป็นการปล่อยตัวพักการลงโทษ และต้องไปรายงานตัวในเขตพื้นที่สำนักงานคุมประพฤติ ตามที่ผู้อุปการะพักอาศัย ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการคุมประพฤติ ตามระยะเวลาที่ได้รับการพักการลงโทษจนกว่าจะพ้นโทษหรือพ้นการคุมประพฤติต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของกรมราชทัณฑ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยชอบด้วย กฎหมายแล้ว