ปักกิ่ง, 2 ธ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยทางโบราณคดีแห่งปักกิ่งแถลงข่าวเปิดเผยการค้นพบทางโบราณคดีหลายรายการ ซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนซากประตูเมืองจงตู เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์จิน (ปี 1115-1234) ที่มีการขุดพบเป็นครั้งแรกในกรุงปักกิ่ง และให้ข้อมูลอ้างอิงที่ล้ำค่าสำหรับการทำความเข้าใจผังเมืองโบราณ
“ภารกิจขุดค้นในปีนี้พบซากประตูตวนหลี่ ซึ่งเป็นประตูทิศตะวันตกเฉียงใต้บริเวณรอบนอกของเมืองหลวง โดยเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่สภาพดีที่หาพบได้ยาก” ติงลี่น่า นักวิจัยของสถาบันฯ กล่าว
จงตูเคยเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จินเนิ่นนานกว่าหกทศวรรษในยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ และต่อมาถูกทิ้งร้างในช่วงปลายราชวงศ์หยวน (ปี 1271-1368)
กัวจิงหนิง ผู้อำนวยการสถาบันฯ ระบุว่าก่อนหน้านี้ความรู้ของเราเกี่ยวกับจงตูอิงจากเอกสารและการค้นพบทางโบราณคดีที่กระจัดกระจาย และยังไม่ค้นพบโครงสร้างที่สำคัญ เช่น ประตูและถนน ซึ่งทำให้ความเข้าใจของเรายังไม่สมบูรณ์นัก
นอกจากประตูเมืองแห่งนี้แล้ว นักโบราณคดียังขุดพบซากที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่รอบนอกของเมืองจงตูจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงกำแพงเมือง คูน้ำ และทางระบายน้ำ ตลอดจนเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ อิฐ และกระเบื้อง
ส่วนงานวิจัยกำแพงเมืองจีน ด่านเจี้ยนโค่วในกรุงปักกิ่งยังมีความคืบหน้าสำคัญ โดยนักโบราณคดีได้ตรวจสอบเค้าโครง รูปแบบสถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง และเทคนิคการก่อสร้างเพิ่มเติม
ซ่างเหิง เจ้าหน้าที่สถาบันฯ เผยว่าการค้นพบหลายรายการ เช่น ศิลาจารึกเก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมาบริเวณกำแพงเมืองจีน ด่านเจี้ยนโค่ว ช่วยให้ข้อมูลเชิงลึกสำคัญเกี่ยวกับการก่อสร้างและวิวัฒนาการของกำแพงเมืองจีน