ที่บริเวณเรือหลวงพะงัน ท่าเทียบเรือท้องศาลาเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี สมาคมโรงแรม และการท่องเที่ยวเกาะพะงัน ร่วมกับ จ.สุราษฎร์ธานี, ท่องเที่ยวและกีฬา จ.สุราษฎร์ธานี, สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมภาครัฐ เอกชน ประชาชนชาวพะงัน ร่วมกันจัดงาน "พระจันทร์หลากสี...ที่เกาะพะงัน" (Koh Phangan Colormoon Festival 2018) เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาสัมผัสเกาะพะงันในมุมมองใหม่ และรับพลังจากพระจันทร์ 5 วัน 5 คืน ร่วมเรียงร้อยท่วงทำนองแห่งชีวิตไปกับมนต์เสน่ห์ของเกาะพะงัน ในรูปแบบ Melody of Life สีสันเกาะแห่งดนตรี
บนพื้นที่กว่า 1,000 ตร.ม. ที่จะได้สัมผัสประสบการณ์การเดินทางทางจิตวิญญาณไปพร้อมกับเสียงเพลง “Ecstatic Dance” การทำสมาธิแบบเคลื่อนไหวจากเบื้องลึกในจิตใจ ปลดปล่อยตัวคุณออกมาผสมผสานจังหวะเพลงหลากหลายแนว พร้อมกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย
ปัจจุบัน เกาะพะงันมีห้องพักเกือบ 400 แห่ง จำนวน 9,000 ห้อง มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าเกาะพะงัน ประมาณกว่าล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยว 12,125.02 ล้านบาท ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ มีผลมาจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ของเกาะพะงัน เช่น กิจกรรมฟูลมูน ปาร์ตี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี และหลงใหล ที่จะต้องเดินทางมาสัมผัสสักครั้งในชีวิต เนื่องจากหาดริ้น เป็นหาดที่พระจันทร์สวยที่สุด และกิจกรรมพระจันทร์หลากสีที่เกาะพะงัน จัดมาต่อเนื่องทุกปี ภายในงานให้คุณได้สนุกไปกับดนตรีและเสียงเพลงจากศิลปินคุณภาพและร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ทางดนตรี

นายดำรง เทือกสุบรรณ รองนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดงานพระจันทร์หลากสีเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของเกาะพะงัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักมากยิ่งขึ้น สำหรับในปีนี้ได้จัดให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในเกาะพะงัน พบกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและต่างจังหวัด และได้เข้ามาร่วมงานกว่า 10 องค์กร ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวบนฝั่งหรือบนเกาะมักได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง จะได้เน้นให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของเกาะพะงัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกินและความเป็นอยู่ ซึ่งสามารถบอกกล่าวถึงวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี