เริ่มวางทุ่นกันฉลาม 25 เม.ย.

2018-04-24 12:55:04

เริ่มวางทุ่นกันฉลาม 25 เม.ย.

Advertisement

ทช.เตรียมวางทุ่นป้องกันฉลามหาดทรายน้อย 25 เม.ย. ห่างจากชายฝั่ง 50 เมตร ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร ระยะทาง 300 เมตร



เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นายวรรณ ชาตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ในวันที่ 25 พ.ย. ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะนำทุ่นลอยน้ำหรือหรือทุ่นไข่ปลา ผูกติดกับเชือกไนลอนวางเป็นแนวยาวป้องกันฉลามแห่งแรกของประเทศไทยในทะเลด้านหน้าหาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากชายฝั่ง 50 เมตร ที่ระดับน้ำลึกไม่เกิน 3 เมตร ระยะทางยาวราว 300 เมตร เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวได้รับอันตรายจากฉลามหรือแมงกะพรุนกล่องขณะลงเล่นน้ำหลังเกิดเหตุนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ถูกฉลามทำร้าย พร้อมกันนี้ทาง ทช. และเทศบาลเมืองหัวหิน ได้แจ้งให้เจ้าของสถานประกอบการโรงแรมรีสอร์ท กลุ่มประมงเรือเล็กและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในการจัดทำตาข่ายกันฉลามวางแนวชายฝั่งทะเลหาดทรายน้อยซึ่งออกแบบเรียบร้อยแล้วเพื่อไม่ให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการได้รับผลกระทบและมีความเหมาะสมทุกด้านทั้งความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและการหากินตามธรรมชาติของฉลามหัวบาตร ในเย็นวันเดียวกัน เวลา 17.00 น. ที่ รร.เทศบาลบ้านเขาเต่าโดยมีทีมวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ทช. และคณะสัตวแพทย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้แจงทำความเข้าใจ



ด้านสัตวแพทย์หญิง วัชรา ศากรวิมล นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) กล่าวว่า หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งปิดการลงเล่นน้ำทะเล ที่หาดทรายน้อย ล่าสุดจากการสำรวจติดตามของคณะทำงานพบว่ามีฉลามหัวบาตร 4 - 6 ตัว ความยาว 1 - 1.50 เมตรเป็นลูกฉลาม เข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งในช่วงเย็นถึงค่ำขณะที่น้ำทะเลหนุนสูง สำหรับช่วงกลางวันฉลามจะหลบอยู่ในซอกหิน ส่วนการสำรวจเส้นทางการหากิน จะมีการประชุมในคณะทำงานเพื่อหาผลสรุปอีกครั้ง โดยร่วมกับหลายหน่วยงาน เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมามีชาวประมงในพื้นที่ชุมชนเขาเต่าให้ข้อมูลมีปลาฉลามหัวบาตรติดเครื่องมือประมง นอกจากนั้นจะลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากชาวประมงในพื้นที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี อ.หัวหิน อ.ปราณบุรี และ อ.สามร้อยยอด ส่วนการวางทุ่นตาข่ายเบื้องต้นเชื่อว่าสามารถป้องกันฉลามไม่ให้รับผลกระทบและคนได้รับอันตราย





ด้าน นางอรวรรณ ใบเกตุ อายุ 50 ปี เจ้าของร้านขายของฝากสินค้าพื้นเมือง ริมถนนทางเดินขึ้นวัดถ้ำเขาเต่า กล่าวว่า หลังจากพบปลาฉลามเข้าหากินบริเวณชายฝั่งทำให้มีประขาชนและนักท่องเที่ยวต่างสนใจเดินทางไปดูฉลามกันเป็นจำนวนมากทำให้ขยายเวลาเปิดร้านถึง 19.00 น.จากเดิมปิดร้าน 16.00 น. แตกต่างจากปีก่อนหลังจากช่วงเทศกาลสงกรานต์บรรยากาศการท่องเที่ยวจะไม่คึกคักเท่าที่ควร