นายกฯห่วง "สนธิ" ก่อม็อบกระทบท่องเที่ยว

2024-11-29 15:57:51

นายกฯห่วง "สนธิ" ก่อม็อบกระทบท่องเที่ยว

Advertisement

นายกฯห่วง "สนธิ"ก่อม็อบกระทบท่องเที่ยว  ระบุหากมีข้อเรียกร้องให้ยื่นจดหมาย รัฐบาลยินดีรับฟังเสียงประชาชน

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 67 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.สัญจร  ถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจัดการชุมนุมครั้งสุดท้ายในชีวิต มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้เหมาะที่จะมีม็อบหรือไม่ ว่า เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบ เราอาจไม่อยากไป ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศอย่างแน่นอน แต่ว่าหากประชาชนมีข้อเรียกร้องหรืออยากจะเสนอกับรัฐบาล เรามีกระบวนการรับฟังเสียงของประชาชนอยู่แล้ว เช่น การยื่นจดหมาย รัฐบาลเห็นว่าความคิดเห็นของประชาชนสำคัญเสมอ แต่การจะเกิดม็อบหรืออะไร เราพูดคุยกันได้ จึงยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายสนธิจะยื่นหนังสือคัดค้าน MOU44 จะไปรับด้วยตัวเองหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการที่มีอยู่ คงไม่มีพิเศษในกรณีไหน ไม่เช่นนั้นก็จะมีเคสใหม่เรื่อยๆ เราอยากให้เป็นไปตามกระบวนการ

ต่อข้อถามว่า ประเทศไทยสามารถยกเลิกเพียงฝ่ายเดียวได้หรือไม่  นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วสามารถยกเลิกได้ตามหลักของกฎหมาย แต่ถามว่าเราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ  คงต้องมีการคุยกันก่อนจะดีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เพราะฉะนั้นเราพยายามคือหนึ่งไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องอะไรก็ตาม สองการจะตกลงในเรื่องนี้ควรเป็นการคุยกันระหว่างสองประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก 

เมื่อถามว่า รัฐบาลชี้แจงเอ็มโอยู 44 แต่ยังคงมีคำถามเข้ามาเรื่อยๆ มองว่ามีอะไรนอกเหนือจากเรื่องเอ็มโอยู 44 ซ่อนอยู่หรือไม่ นายกฯ  กล่าวว่า ก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า ประเด็นทางการเมืองก็มีมากมายทุกวัน แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะคำพูดของนายกฯ หรือของ รมว.การต่างประเทศ ได้สื่อสารออกไป ประเทศอื่นๆ จะรับข้อนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราจึงพยายามสื่อสารด้วยความระมัดระวัง และเห็นอกเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่พื้นที่ที่เราคุยกันมา ยังคงเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ ยังไม่มีการเคาะอะไรทั้งสิ้น ทั้งเราและกัมพูชา ยังไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรในตอนนี้ เราต้องคุยกันก่อน แน่นอนว่าดิฉันเองเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ไม่มีทางเห็นประเทศใดสำคัญกว่าประเทศไทย ขอให้มั่นใจตรงนี้ไว้อย่างหนึ่งว่า ดิฉันเกิดในแผ่นดินนี้ ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ขอให้มั่นใจในจุดนี้ และเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยด้วยเหตุผล ด้วยการตกลงระหว่างประเทศที่ดี อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรามาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ อันนั้นก็จะไม่ดีไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น 

ต่อข้อถามว่า  กลุ่มผู้คัดค้านเอ็มโอยู 44 มีการหยิบยกพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องของไหล่ทวีปขึ้นมา ประเด็นนี้จะอยู่ในการเจรจาด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในนั้นเราได้ดูเนื้อหานี้อย่างละเอียดแล้ว อะไรที่เป็นปัญหา เราไม่ชนกับปัญหาอย่างแน่นอน เราต้องค่อยๆ ร่วมกันแก้ไข