"เสียงแหบ-เสียงหาย" ทำไงดี ?
ในปัจจุบันปัญหาที่พบได้บ่อยมากขึ้นสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้เสียงอยู่ตลอดเวลาคือ อาการ เสียงแหบ หรือ เสียงหาย ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากจะไม่สามารถใช้เสียงในการพูดคุยได้แล้ว หากดูแลรักษาอย่างไม่ถูกวิธีอาจส่งผลทำให้อาการแย่ลงได้
อาการเสียงแหบ เสียงหายคืออะไร
เสียงแหบหรือเสียงหาย คือ อาการที่เกิดการบาดเจ็บทางสายเสียง มาจากการใช้เสียงที่มากเกินไป เช่น การร้องเพลง การตะโกนหรือเป็นไข้หวัด อาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยในบุคคลที่จำเป็นต้องใช้เสียงอยู่ตลอดเวลา เช่น การทำงานในอาชีพนักร้อง นักแสดง ครู หรือพนักงานขาย เป็นต้น อาจมีเสียงผิดเพี้ยนไปจากเดิมในแง่ ความคมชัดของเสียง ความดัง หรือต้องใช้ความพยายามมากในการออกเสียง ประมาณการว่าในประชากรทั่วไปมีโอกาสเกิดเสียงแหบครั้งหนึ่งในช่วงชีวิตประมาณ 30% โดยคำแนะนำทั่วไปหากมีอาการเสียงแหบโดยไม่ดีขึ้นเองภายในสองสัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์
สาเหตุของอาการเสียงแหบ เสียงหาย มาดูกันว่ามีสาเหตุหลัก ๆ อะไรบ้างที่ทำให้เกิดเสียงแหบ
ใช้เสียงมากเกินไป หรือใช้เสียงผิดวิธี
สาเหตุหลักที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเสียงแหบมักเกิดจากการใช้เสียงดังมาก หรือนานเกินไป ไม่ว่าจะใช้เสียงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันหรือใช้เสียงเพื่อการประกอบอาชีพ มักเป็นหลังการใช้เสียงทันทีหรือในวันรุ่งขึ้น โดยปกติแล้วหากเสียงหายด้วยสาเหตุนี้มักเป็นจากสายเสียงบวมหรืออักเสบ โดยปกติใช้เวลาในการพักประมาณ 1-2 วันก็สามารถกลับมาใช้เสียงได้ปกติ แต่หากจำเป็นต้องใช้หรือฝืนใช้เสียงอย่างต่อเนื่องในขณะที่ยังมีสายเสียงบวม อาจทำให้อาการแย่ลงได้จากการอักเสบที่มากขึ้น ซึ่งบางครั้งต้องใช้การรักษาด้วยยาร่วมกับการพักการใช้เสียงจึงจะกลับมาหายเป็นปกติได้
อาการติดเชื้อหรือเป็นหวัด
ในกรณีนี้อาการเสียงแหบมักเกิดขึ้นได้เสมอในผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน เช่นไข้หวัดจากไวรัส ซึ่งทำให้เกิดเยื่อบุเนื้อในลำคอไปจนถึงสายเสียงอักเสบ บวมทำให้เกิดอาการเสียงแหบ เสียงหายในที่สุด โดยปกติแล้ว อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ เพียงแค่รักษาตามอาการ ดื่มน้ำให้มากและพักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการแย่ลง เช่น มีอาการไออย่างรุนแรง ไข้สูง เจ็บคอมากขึ้น อาจต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจรักษาให้ถูกต้องต่อไป
สาเหตุอื่น ได้แก่ กรดไหลย้อนขึ้นกล่องเสียง โพรงจมูกภูมิแพ้อากาศที่มีการสั่งน้ำมูกหรือไอรุนแรง การสูบบุหรี่ หรือการใช้ยาบางประเภทเช่นยาขับปัสสาวะ วิตามินหรือการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นทางปอดหรือจมูก ถ้ามีประวัติการผ่าตัดมาก่อนก็อาจเกิดได้จากกการใส่ท่อช่วยหายใจตอนวางยาสลบหรือการผ่าตัดที่ไปกระทบเส้นประสาทที่เลี้ยงสายเสียง ถ้ามีอาการระยะยาวนานอาจเป็นจากสาเหตุอื่นเช่นความผิดปกติของสมอง โรคมะเร็งบริเวณกล่องเสียงและลำคอ บางครั้งก็เป็นจากการการเปลี่ยนแปลงของวัย ไม่ว่าการแตกเนื้อหนุ่ม จนถึงการย่างเข้าวัยชรา
เสียงแหบ แบบไหนที่ต้องรีบไปพบแพทย์
ปกติทั่วไปอาการเสียงแหบหรือเสียงหายสามารถหายได้เองตามธรรมชาติหากไม่มีอาการบาดเจ็บของเส้นเสียงเพิ่มเติม แต่ทั้งนี้ในคนไข้บางรายอาจมีอาการยาวนานกว่าปกติ หรือมีอาการบาดเจ็บของเสียงที่รุนแรงขึ้น เช่น เจ็บคอหรือไออย่างรุนแรง การใช้เสียงในขณะที่มีอาการ หรือผลข้างเคียงจากสาเหตุการเกิดต่าง ๆ ดังนั้นควรที่จะสังเกตตนเองว่ามีอาการแบบไหนบ้างที่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง หากคุณมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
-เสียงแหบติดต่อกันโดยไม่ดีขึ้นในเวลา 2 สัปดาห์
-เสียงแหบหรือเสียงหายหนักมากขึ้นจนไม่สามารถพูดคุยหรือสื่อสารได้
-เสียงแหบโดยไม่ได้เป็นหวัดมาก่อน
-มีประวัติสูบบุหรี่เป็นประจำและมีเสียงแหบโดยไม่ดีขึ้นใน7-10วัน
-มีก้อนขึ้นที่คอร่วมด้วย
-มีอาการกลืนลำบาก สำลักน้ำ อาหาร หรือหายใจลำบากร่วมด้วย
-มีเสมหะปนเลือด
หากมีอาการที่กล่าวมาข้างต้นควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกวิธี เพื่อการรักษาที่ได้ประสิทธิภาพ ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
วิธีรักษาอาการเสียงแหบ เสียงหาย
-อาการเสียงแหบหรือเสียงหาย ข้อควรปฏิบัติ
-เสียงแหบสิ่งที่ช่วยเรื่องเสียงคือการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอโดยเฉพาะเวลาอากาศแห้ง
-ไม่ควรดื่มน้ำมะนาวหรือน้ำส้มคั้นหรือบีบมะนาวเข้าลำคอโดยตรง และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
-พักผ่อนให้เพียงพอ
-พักการใช้เสียง ไม่ไอหรือกระแอมโดยแรง
-งดการสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่น
-งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-หากมียาที่แพทย์แจ้งว่าควรหลีกเลี่ยงช่วงเสียงแหบควรปฏิบัติตามคำแนะนำ
การรักษาอาการไม่สามารถแก้เสียงแหบให้หายโดยเร่งด่วนได้ ควรที่จะใช้ระยะเวลาในการรักษาอาการเสียงแหบอย่างเหมาะสมให้ร่างกายได้ฟื้นฟูด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการที่หนักมากขึ้น
ผศ.นพ.ภูริช ประณีตวตกุล
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล