"นิกร"เสนอ "ประชามติชั้นครึ่ง" ยอมรับเป็นไปได้ยาก

2024-11-20 15:35:11

"นิกร"เสนอ "ประชามติชั้นครึ่ง"  ยอมรับเป็นไปได้ยาก

Advertisement

 "นิกร"เสนอ "ประชามติชั้นครึ่ง"  กมธ.ร่วม ยอมรับเป็นไปได้ยาก "ส.ว.-พท."ไม่ยอมถอย

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รัฐสภา โดยมีการเชิญตัวแทน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มาให้ข้อมูล กมธ. เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำประชามติผ่านทางไปรษณีย์

นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า ในเรื่องขั้นตอนการออกเสียงทำประชามติ มีความเห็นต่างกันอย่างมากระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. ที่จะต้องมีการลงมติกัน โดยเฉพาะในประเด็นเสียงข้างมากว่าจะเอากี่ชั้น ซึ่ง กมธ.มีฝั่งละ 14 คน แต่ขาดฝั่ง ส.ส.ไป 1 คน ที่ได้ลาไว้ก่อน และเท่าที่ฟังทั้ง 2 ฝ่ายยืนตามมติของตัวเองมรตลอด โดยฝ่าย ส.ว. ยืนกรานที่เสียงข้างมาก 2 ชั้น ที่จะต้องใช้เสียงของผู้มีสิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง คือ 26 ล้านคนขึ้นไป และใช้เสียงของผู้มีสิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งเป็นข้อยุติว่าจะต้องเห็นด้วยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขณะที่ฝ่าย ส.ส. โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว คือมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เท่าใดก็ได้ แล้วใช้เสียงข้างมาก แต่ต้องเกินจากผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนหรือโนโหวต ตนเห็นว่าความเห็นที่แตกต่างเหล่านี้จะมีปัญหา เพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลในจุดยืน ในวันนี้ตนจึงจะเสนอในนาม กมธ. ให้ใช้เสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือมีผู้มีมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเพื่อให้เจอกันตรงกลาง

นายนิกร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีการท้ากันว่าการทำประชามติออกไป 180 วันก็ไม่เป็นไร แต่ผมยืนยันว่าเป็นปัญหา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะให้เสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ไม่มีทาง จึงมีความคิดกันว่าให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ยังดี เพราสภาฯเหลือเวลาอีก 2 ปี หากมีความขัดแย้ง แล้ว ส.ส.ยืนตามของตัวเอง จะมีปัญหาต้องรอไปอีก 180 วัน พอออกเป็นกฎหมาย กกต.ต้องไปออกกฎหมายลูกอีก 1 เดือน รวมเป็น 7 เดือน พอกฎหมายเริ่มดำเนินการ ครม.ออกเป็นมติ ใช้เวลาอีก 100 วันถึงจะทำประชามติครั้งแรกได้ ก็หมดปี 68 แล้ว ถึงแม้กฎหมายนี้จะผ่านในปี 68 ก็ต้องใช้เสียงของ ส.ว.สนับสนุนเกิน 1 ใน 3 ก็คือ 67เสียง ส.ว.ก็จะไม่ให้ผ่านในการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา256 เพราะแตกหักกันแล้ว ทำให้ต้องไปแก้ไขใหม่ ก็ต้องรอสภาฯสมัยหน้า แม้แต้ ส.ส.ร.ก็สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ทัน ผมเลยเสนอแบบกลาง เพื่อให้ออกกฎหมายทัน พอสภาฯเปิด กฎหมายเคาะแล้ว ก็สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วทำประชามติแบบชั้นครึ่งได้เลย แต่ที่ผมจะเสนอวันนี้ ยอมรับว่าไม่รู้ว่าจะหวังได้แค่ไหน เพราะแย้งกันหนักเหลือเกิน ต่างฝ่ายต่างยืนนิ่งแบบไม่ขยับตัวกันเลย” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวด้วยว่า มีโอกาสแหกโค้งเยอะมาก ถ้าไม่ประนีประนอม ไม่พูดคุยกัน มันเหมือนเจอแต่อุปสรรค ดังนั้นฝ่าย สว. ต้องถอย 1 ก้าว ตามที่ตนเสนอ แต่ตนคิดว่าคงไม่ถอย เพราะขณะนี้การเมืองแรงเหลือเกิน ตนจึงต้องขอให้ตัวเองโชคดีในการเสนอครั้งนี้