เศร้าแต่จริง! เด็กหญิงอัฟกันปลอมเป็น"ลูกชาย" ที่พ่อแม่ต้องการ

2018-04-23 13:20:14

 เศร้าแต่จริง! เด็กหญิงอัฟกันปลอมเป็น"ลูกชาย" ที่พ่อแม่ต้องการ

Advertisement

แม้สิตารา วาฟาดาร์จะอยากไว้ผมยาวเป็นสาวเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นมากเพียงใด แต่เธอก็ต้องปลอมตัวเป็นเด็กผู้ชายตามคำสั่งของพ่อแม่ที่ขอให้เธอเป็น “ลูกชาย” ที่พวกเขาไม่เคยมี



สิตารา วาฟาดาร์เป็นเด็กหญิงวัยแรกแย้มชาวอัฟกันอายุ 18 ปีแต่เธอกลับต้องปกปิดตัวตนเอาไว้และแสร้งเป็นเด็กผู้ชายเกือบตลอดชีวิตที่ผ่านมาเนื่องจากครอบครัวที่ยากจนของเธอมีพี่น้องผู้หญิงถึง 5 คนและไม่มีผู้ชายเลยสักคนเดียว โดยสิตาราใช้ชีวิตภายใต้ธรรมเนียมการบิดเบือนทางเพศที่มีชื่อเรียกว่า “บาชาโพชี” ซึ่งในภาษาดารีแปลว่าเด็กหญิง “ที่แต่งตัวเป็นเด็กชาย” เพื่อให้เธอคนนั้นสามารถแสดงตนเป็นลูกชายในประเทศปิตาธิปไตยแห่งนี้






วัยรุ่นสาวอายุ 18 ปีอาศัยอยู่กับครอบครัวยากจนในบ้านดินที่จังหวัดนันการ์ฮาร์ ทางตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถาน และแสร้งเป็นผู้ชายมาเกือบทั้งชีวิต ทุกเช้าสิตาราจะสวมเสื้อโคร่งๆ กับกางเกงและรองเท้าแตะอย่างที่ผู้ชายชาวอัฟกันปกติสวมใส่ และบางครั้งก็โพกผ้าปิดผมสีน้ำตาลประบ่าและทำเสียงต่ำเพื่อพรางเพศสภาพที่แท้จริงของเธอ




โฉมหน้าสิตาราเด็กสาววัย 18 ปีแสร้งเป็นเด็กชายมาเกือบตลอดชีวิตของเธอ




สิตาราบอกว่า “ฉันไม่เคยคิดว่าฉันเป็นเด็กผู้หญิง” เธอทำงานที่โรงงานอิฐกับพ่อตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกวัน 6 วันต่อสัปดาห์และได้ค่าจ้างจากการผลิตอิฐ 500 ก่อนต่อวันเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 60 บาท) เท่านั้น แต่ที่ยังต้องทำเนื่องจากติดหนี้เจ้าของโรงงานไว้และยังจำเป็นต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว





บาชาโพชีเป็นธรรมเนียมที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานในสังคมอนุรักษ์นิยมของประเทศอัฟกานิสถานที่จะให้คุณค่าเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้หญิงก็มักจะถูกผูกติดอยู่กับบ้าน ครอบครัวที่ไม่มีทายาทผู้ชายจึงมักให้ลูกสาวแต่งตัวปกปิดเพศที่แท้จริงและทำหน้าที่แทนโดยที่ไม่ถูกข่มเหงหรืออาจแย่กว่านั้น



อย่างไรก็ตาม เด็กหญิงบางคนก็เลือกที่จะแต่งเป็นผู้ชายด้วยตนเองเพื่อให้สามารถมีเสรีภาพในประเทศที่ปฏิบัติต่อผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง โดยมากแล้วเด็กที่เป็นโบชาโพชีจะหยุดแต่งตัวเป็นผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ุ แต่สิตาราบอกว่าจะยังคงแต่งตัวเป็นผู้ชายเพื่อ “ป้องกันตัวเอง” ที่โรงงานอิฐ “ถ้าพวกเขารู้ว่ามีเด็กหญิงอายุ 18 ปีทำงานอยู่ที่โรงงานอิฐตั้งแต่เช้าจนค่ำฉันอาจเจอปัญหามากมาย อาจถึงขั้นถูกลักพาตัวเลยด้วย”


สภาพความเป็นอยู่ของเด็กน้อยในอัฟกานิสถาน