"อนุดิษฐ์"แนะ ทอ.ชะลอซื้อ "เครื่องบินกริพเพน" จากสวีเดน ภายหลัง ไทรัมป์" คืนเก้าอี้ ปธน.
เมื่อวันที่ 13 พ.ย.67 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่กองทัพอากาศไทย (ทอ.) กำลังพิจารณาจัดซื้อเครื่องบินรบแบบ JAS 39 Gripen E/F จากประเทศสวีเดน ว่า การเลือกซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่มีนัยสำคัญ ทั้งในแง่มูลค่างบประมาณที่ไม่ใช่แค่กว่า 1.9 หมื่นล้านบาทในเฟสแรก หรือ 4 ลำ แต่หมายถึงเกือบ 6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ครบฝูงบิน 12 ลำในอนาคตอันใกล้ และยังต้องคำนึงถึงในแง่ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ ตลอดจนผลดีผลเสียเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งกับประเทศคู่ค้า และกับชาติอื่นๆ ที่อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีกับชาติคู่ค้าที่ประเทศไทยจะไปซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ในครั้งนี้ด้วย
การพิจารณาเลือกซื้อเครื่องบินรบ Gripen จากสวีเดนในครั้งแรกนั้นเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับ F-16 block 70/72 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางสวีเดนได้นำเสนอนโยบายชดเชย (Offset Policy) ที่เหนือกว่าทางสหรัฐฯ แต่ในขณะนี้สหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การทบทวนข้อเสนอใหม่กับสหรัฐฯ อาจช่วยให้ประเทศไทยได้รับเงื่อนไขที่คุ้มค่ากว่าเดิมหรือไม่
ก่อนหน้านี้ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่องบินฝึกแบบ T-6 และเครื่องบินโจมตีแบบ AT-6 จากสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้น สหรัฐฯ ได้เสนอนโยบายชดเชยโดยตรง (Direct Offset) ที่ชัดเจน ซึ่งครอบคลุมถึงการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนและการมอบ Software Source Code ของเครื่องบินให้ไทยได้ใช้งานจริง สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ที่จับต้องได้และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ แม้ว่าทางสวีเดนจะเคยนำเสนอนโยบายชดเชยแบบทางอ้อมในการจัดซื้อ Gripen ฝูงบินแรก แต่กลับมีข้อสงสัยในด้านความโปร่งใสและชัดเจนของข้อเสนอดังกล่าว
การที่นโยบายชดเชยทางอ้อมไม่สามารถตรวจสอบและวัดผลได้อย่างชัดเจน จึงเป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง ในการจัดซื้อ Gripen ครั้งนี้ ควรมีการระบุข้อเสนอชดเชยที่เป็นรูปธรรมและสามารถตรวจสอบได้ในสัญญา เพื่อป้องกันความไม่ชัดเจนที่อาจเกิดขึ้น เพราะการจัดซื้อเครื่องบินรบครั้งนี้ใช้เงินงบประมาณของชาติเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการทางยุทธการเท่านั้น แต่ยังต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วย หากไทยต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ได้รับความสัมพันธ์ที่ลดต่ำลง นั่นอาจถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ดังนั้นหากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แต่รัฐบาลยังยืนยันที่จะจัดซื้อให้ได้ ย่อมสะท้อนให้เห็นความบกพร่องและต้องการแต่การใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่าเท่านั้น