กัมพูชาตั้งเป้าพ้นสถานะ "ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด" ภายในปี 2029

2024-11-12 10:10:16

กัมพูชาตั้งเป้าพ้นสถานะ "ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด" ภายในปี 2029

Advertisement

พนมเปญ, 11 พ.ย. (ซินหัว) — วันจันทร์ (11 พ.ย.) กัมพูชาและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยแพร่เอกสารสรุปนโยบายเกี่ยวกับการผลักดันให้กัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ภายในปี 2029

เอกสารข้างต้นประเมินถึงโอกาสการสูญเสียมาตรการสนับสนุนระหว่างประเทศ เช่น ข้อเสนอที่ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS waivers) ภายใต้กฎขององค์การการค้าโลก (WTO) การเข้าถึงตลาดโดยได้รับสิทธิพิเศษ และการจัดหาเงินทุนแบบผ่อนปรน ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อสาธารณสุข สินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป ข้าวสาร และจักรยาน และลดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อาจชะลอตัวลงร้อยละ 0.5-1.5 และอาจมีการสูญเสียตำแหน่งงาน 1.65 แสนอัตรา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่ทำงานในภาคส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชน 4.32 แสนคนเสี่ยงตกอยู่ในความยากจนหากไม่วางรากฐานที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด

บิน โทรเชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนของกัมพูชา กล่าวว่าเพื่อให้แน่ใจว่าการที่กัมพูชาหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะไม่ขัดขวางความก้าวหน้าด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ จะร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สถาบัน ภาคเอกชน พันธมิตรการพัฒนา และภาคประชาสังคมในการพัฒนากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น

โทรเชย์ชี้ว่ายุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมของรัฐบาล และมุ่งเน้นที่ 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเสริมสร้างทุนมนุษย์ การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การขยายตลาดการค้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการเสริมสร้างกลไกสนับสนุนทางสังคม

อลิสซาร์ ชาเกอร์ ผู้แทนโครงการฯ ประจำกัมพูชา เผยว่าการพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของเส้นทางการพัฒนาของกัมพูชา ซึ่งจะสร้างทั้งความท้าทายและโอกาส

ชาเกอร์ระบุว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเปิดเส้นทางใหม่สู่การเติบโตที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น และเป็นความพยายามร่วมกันนอกเหนือจากด้านการค้า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหุ้นส่วนการพัฒนาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางสังคมทั้งหมดเพื่อคว้าโอกาสและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกัมพูชา

ชาเกอร์เสริมว่าโครงการฯ จะสนับสนุนกัมพูชาในช่วงการเปลี่ยนผ่านโดยส่งเสริมการเร่งการพัฒนามนุษย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการเติบโตที่ยืดหยุ่น และเปลี่ยนผ่านจากการระดมทุนสู่การจัดหาเงินทุน