"อนุทิน"ย้ำ "เกาะกูด"เป็นของไทย ไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู 44 เป็นแค่กรอบพูดคุยเจรจา "ไทย-กัมพูชา" ด้านพลังงานหากตกลงกันไม่ได้ เห็นไม่ตรงกันก็ยุติ
เมื่อเวลา 11.30 น. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.67 ที่เกาะกรูด จ.ตราด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และคณะ เดินทางต่อมายังศาลาประชาคมเกาะกูด เพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ พร้อมพบปะ และมอบนโยบายข้าราชการ
นายอนุทิน กล่าวว่า ตนและน.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย พร้อมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย อาทิ ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องถือว่าวันนี้เราร้องเพลงเสกโลโซหรือใจสั่งมา และวันนี้ต้องมาที่เกาะกูดให้เห็นกับตาว่าที่มีกระแสข่าวเอ็มโอยู 44 เรื่องการอ้างพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลต่างๆ ระหว่างประเทศของเรากับประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจจะทำให้เกิดความสับสนถึงขั้นไม่สบายใจ โดยเฉพาะกับพี่น้องประชาชนในอ.เกาะกูด รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน อาจจะมีความไม่สบายใจจากการกระหน่ำของข่าวสารต่างๆ ตนจึงต้องเรียนให้ทราบว่าเราอย่าไปเปลืองพื้นที่สมอง และพื้นที่อารมณ์กับข้อสงสัยที่ว่าเกาะกูดเป็นของใคร เพราะเป็น 100 ปีมาแล้วเกาะกูดเป็นของไทย เป็นเกาะที่อยู่ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย มีสถานะเป็นอำเภอแม้จะเป็นอำเภอเล็กๆ แต่ก็สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ดังนั้น ข้อสงสัยความกังวลต่างๆ ตนอยากให้ทุกคนเกิดความสบายใจว่าไม่มีใครเอาเกาะกูดออกจากประเทศไทยได้เป็นอันขาดแม้แต่ตารางนิ้วเดียว อย่าไปสนใจเส้นที่ลากมาจากด้านไหนหรือลากโดยใครก็ตาม เพราะมันมีความชัดเจนอยู่แล้ว
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนที่มีคำถามถึงสนธิสัญญาหรือข้อตกลงต่างๆ ให้คิดกันง่ายๆว่าวันนี้ที่พวกเราเดินทางมาถึงเกาะกูด ท่านเอาพาสปอร์ตมาด้วยหรือไม่ ต้องผ่านการตรวจคนเข้าเมืองหรือเปล่า ซึ่งเราไม่ต้องทำกระบวนการเช่นนั้นเลย ออกจาก จ.ตราดนั่งเรือมาเกาะกูดเช็คอินเข้าพักใช้บัตรประชาชนใช้เงินบาทแค่นั้นก็จบแล้ว
"จริงๆมาเกาะแบบนี้น่าจะใส่เสื้อฮาวาย หมวกปานามา ใส่กางเกงขาสั้น ใส่แว่นกันแดดมา แต่วันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ผมและคณะใส่ชุดข้าราชการที่เราปฏิบัติราชการขึ้นมาอยู่บนเกาะกูด แบบนี้จะเป็นของใครได้นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แม้แต่ข้าราชการในพื้นที่ก็แต่งเครื่องแบบด้วยความภาคภูมิใจ ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าท่านคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของราชอาณาจักรไทย และท่านเป็นผู้ที่ใช้กฎหมายไทยในการบริหารราชการแผ่นดินในพื้นที่เกาะกูดแห่งนี้ ดังนั้น กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผมต้องขอความกรุณาว่าท่านได้เหรียญที่ได้รับพระราชทานมาให้ติดด้วยความภาคภูมิใจ ว่าเป็นข้าราชการที่ทำหน้าที่ดูแลชาวบ้าน” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า วันนี้หากพูดเรื่องเอ็มโอยู 44 เขากำหนดไว้ในปี 2544 วัตถุประสงค์เพื่อวางกรอบในการพูดคุยเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมการด้านเทคนิคที่แต่ละประเทศตั้งขึ้น ซึ่งมีหัวข้อว่าจะมีแนวทางในการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลอย่างไร เพราะในอ่าวไทยมีก๊าซมีปิโตรเลียม น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ซึ่งเราต้องหาวิธีนำขึ้นมาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน และค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะลดลงได้
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ วัตถุประสงค์เพื่อจะแบ่งเขตเศรษฐกิจจำเพาะอย่างไรให้เป็นไปตามกฏหมายระหว่างประเทศ ถ้าเราพูดแบบชาวบ้านคุยกันอ่านถ้อยคำในเอ็มโอยู 44 ฟังแล้วก็งงตั้งแต่นาทีแรก ก็เอาเป็นว่าทั้งสองประเทศมีทะเลขวางกันอยู่ ประเทศหนึ่งขีดเส้นหนึ่งเส้น อีกประเทศขีดเส้นอีกหนึ่งเส้น แล้วทั้งสองประเทศเส้นดันมาเกยกันจึงเกิดพื้นที่ทับซ้อน พอเป็นเช่นนี้ถามว่าเราจะรบกันเลยหรือเพื่อชิงพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งมันไม่ใช่แบบนั้นเพราะในยุคนี้สมัยนี้เราต้องนึกถึงความสงบความสันติในพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องตั้งคณะกรรมการทั้งสองประเทศขึ้นมาคุยกัน แต่ต้องยึดหลักสากลคือหลักกฏหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องทรัพยากร เรื่องเขตทางทะเลว่าจะขีดเขตทางทะเลออกไปอย่างไร จึงเป็นเรื่องของคณะกรรมการที่ทั้งสองประเทศจะตั้งขึ้นมาแล้วพูดคุยกัน
"เอ็มโอยู 44 ไม่ใช่สัญญาว่าคุณจะขุดออกไปกี่กิโลเมตรหรือจะขุดร่วมกันหรือไม่ ซึ่งยังไม่ถึงจุดนั้น ตอนนี้เพียงแต่จะหาความเห็นร่วมกันก่อนว่าแต่ละพื้นที่แต่ละประเทศครอบครองเท่าไหร่ในทางทะเล ผมขอย้ำว่าเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องของดินแดนไม่ใช่เรื่องของแผ่นดิน เกาะกูดจึงเป็นดินแดนของประเทศไทย เรื่องเกาะกูดไม่มีอยู่ในเอ็มโอยู 44 และเมื่อเห็นตกลงเมื่อไหร่ตามเอ็มโอยูก็จะมีการสร้างสนธิสัญญาพัฒนาร่วม ซึ่งส่วนนั้นยังอีกห่างไกลกว่าจะไปถึงจุดนั้น ซึ่งในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อนบ้านก็คงระบุไว้เช่นกัน ว่าก่อนที่จะไปทำสนธิสัญญากับใครต้องได้รับความเห็นจากรัฐสภาของแต่ละประเทศก่อน จึงมีขั้นตอนอีกมากกว่าจะถึงจุดนั้น แล้วหากถึงที่สุดแล้วตกลงกันไม่ได้เห็นไม่ตรงกันก็ยกเลิกกันไป ดังนั้น จึงไม่ต้องมานั่งบอกว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเอ็มโอยู เพราะเอ็มโอยูบอกแค่ว่าให้มาคุยกัน“ นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้จึงไม่เกี่ยวกับชาวบ้านเกาะกูด ไม่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาพักผ่อนที่เกาะกูด ส่วนที่มีข่าวนักท่องเที่ยวเห็นข่าวจึงชะลอการมาเที่ยวเกาะกูดยกเลิกห้องพัก ตรงนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพสุจริต ผู้ประกอบการโรงแรม โฮมสเตย์ต่างๆ ไม่แฟร์กับพวกท่านเลยด้วยข่าวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ดังนั้น การเดินทางมาเกาะกูดวันนี้เพื่อให้ความมั่นใจว่าเกาะกูดไม่ใช่ประเด็นของปัญหา ขอให้นักท่องเที่ยวได้มาท่องเที่ยว ขอให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตตามปกติ เอ็มโอยู 44 ไม่มีส่วนใดเลยที่จะเป็นพิษเป็นภัยต่อเกาะกูดของพวกเรา ซึ่งอาณาเขตของประเทศไทยรัฐบาลมีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และเขตแดนของประเทศไทยอยู่แล้ว
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวกรณีเอ็มโอยู 44 ที่มีกระแสขึ้นมาเกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนทำให้เกิดการบิดเบือนใช่หรือไม่ ว่า ไม่เกี่ยว มีคนยกประเด็นนี้ขึ้นมาตรงกับช่วงเวลาสับเปลี่ยนคณะกรรมการเพราะชุดเดิมพ้นจากรัฐบาลนี้แล้ว
เมื่อถามถึง คณะกรรมการชุดใหม่ ควรจะเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่พรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นใครก็ได้ มั่นใจว่าคนที่เป็นข้าราชการการเมืองเป็นคนไทย หากต้องเจรจาประโยชน์ให้กับประเทศอื่นจะเรียกเป็นคนไทยได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้เหนือสิ่งอื่นใด