ซิดนีย์, 8 พ.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (7 พ.ย.) คณะผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการระดับนานาชาติที่นำโดยมหาวิทยาลัยซิดนีย์และมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอนได้เผยแพร่ผลวิจัยใหม่ ซึ่งพบว่าการออกกำลังกายวันละ 5 นาที เช่น การเดินขึ้นเนินหรือบันได อาจช่วยลดความดันโลหิตได้
การวิจัยจากกลุ่มโปรสเปคทีฟ ฟิสิคัล แอคทิวิตี ซิตติง แอนด์ สลีป หรือโปรพาส (ProPASS) พบว่าการแทนที่พฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary behavior) ด้วยการออกกำลังกายวันละ 20-27 นาที อาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญในทางคลินิก
เอ็มมานูเอล สตามาทาคิส ผู้ร่วมเขียนวิจัยอาวุโส และผู้อำนวยการกลุ่มโปรพาสจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่าความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ด้านสุขภาพของโลก แต่แตกต่างจากสาเหตุหลักบางประการของการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตรงที่มีวิธีการแก้ปัญหาที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า นอกเหนือไปจากการใช้ยา
การค้นพบระบุว่าออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 5 นาทีอาจช่วยลดความดันโลหิตได้อย่างชัดเจน ตอกย้ำว่าการเคลื่อนไหวที่มีความเข้มข้นสูงในช่วงเวลาสั้นๆ อาจช่วยเรื่องปัญหาความดันโลหิตได้
ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลจากอาสาสมัคร 14,761 คน เพื่อดูว่าเมื่อให้อาสาสมัครทำการเคลื่อนไหวประเภทหนึ่ง แทนที่การเคลื่อนไหวอีกประเภท จะส่งผลต่อความดันโลหิตอย่างไร โดยทีมคาดว่าการแทนที่พฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยการออกกำลังอย่างน้อยวันละ 20 นาทีอาจช่วยลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ถึงร้อยละ 28
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุ 30-79 ปี จำนวน 1.28 พันล้านคนทั่วโลกมีภาวะความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตเริ่มสูงต่อเนื่อง และมีผู้ใหญ่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมากถึงร้อยละ 46 ที่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้