อะไรจะเกิดขึ้นถ้า "น้ำตาลในเลือดสูง"

2024-11-08 10:13:13

อะไรจะเกิดขึ้นถ้า "น้ำตาลในเลือดสูง"

Advertisement

อะไรจะเกิดขึ้นถ้า "น้ำตาลในเลือดสูง"

คนที่ชอบกินหวาน ชอบกินแป้ง ต้องระวังให้มากขึ้น เมื่อของกินอร่อยปากอาจทำให้เสี่ยง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ที่นำไปสู่โรคเบาหวานได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงคืออะไร

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยปกติร่างกายคนเรามีน้ำตาลในเลือดอยู่แล้ว เพราะร่างกายต้องใช้น้ำตาล และต้องขนส่งน้ำตาลผ่านเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ

สาเหตุของ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

พันธุกรรม ประวัติครอบครัวถือเป็นสาเหตุหลัก หากมีพ่อแม่ที่เป็นโรคเบาหวานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงน้ำตาลในเลือดมากขึ้น

ความอ้วน หากมีดัชนีมวลกายเกิน 25 ถือว่าเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

พฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และการไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นพฤติกรรมเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน

เกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเมื่อน้ำตาลในเลือดสูง

หากน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อยมักจะยังไม่มีอาการผิดปกติอะไร แต่เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาก ๆ จะเริ่มส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกาย และถ้ายังคงสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้อวัยวะเสื่อมได้ เช่น ไต หรือที่เรียกว่า เบาหวานลงไต คนไข้จำเป็นต้องล้างไต หรือหากเบาหวานขึ้นตา คนไข้จะมีอาการตาพร่ามัว มองไม่เห็น อาจถึงขั้นตาบอดได้

นอกจากนี้ คนไข้เบาหวานยังเป็นโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดในสมองได้ง่ายขึ้น มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า รู้สึกเหมือนมีเข็มจิ้ม เส้นเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่ดี โดยเฉพาะขาและเท้า เมื่อเกิดแผลจึงหายช้า เป็นสาเหตุให้คนไข้โรคเบาหวานที่มีแผลที่เท้ามักถูกตัดขา

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหนเข้าเกณฑ์โรคเบาหวาน

เกณฑ์สำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวาน คือ หากงดน้ำ งดอาหารในตอนเช้าแล้ว คนไข้ยังมีระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ที่ 100-126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็นภาวะเสี่ยงเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน ส่วนคนปกติควรมีระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

นอกจากการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่เราคุ้นเคยกันดี ยังมีการตรวจอีกประเภทที่เรียกว่า HbA1c เป็นการวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คนปกติไม่ควรเกิน 5.7 mg% ถ้าอยู่ระหว่าง 5.7-6.5 mg% ถือเป็นภาวะเสี่ยงเบาหวาน และเมื่อไรที่เกิน 6.5 mg% จะถือว่าเป็น โรคเบาหวาน การตรวจแบบนี้เป็นการตรวจเพื่อหาแนวทางลดค่าน้ำตาลในเลือด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง

4 อาการเกี่ยวกับน้ำตาลในเลือดสูง ที่เรามักจะได้ยินกันมา

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงบางครั้งมีความใกล้เคียงกับอาการที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน อาการเหล่านี้มีอะไรบ้าง และจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบไหนที่ผิดปกติ

อาการที่ 1 คอแห้ง หิวน้ำบ่อย

อาการนี้จริง เมื่อร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะสูญเสียน้ำออกมาทางปัสสาวะ คนไข้จะปัสสาวะบ่อย ร่างกายจึงขาดน้ำ ทำให้หิวน้ำบ่อย แต่อาการโดยทั่วไปไม่ได้แตกต่างจากการหิวน้ำปกติ

อาการที่ 2 ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย

อาการนี้ไม่จริง โดยปกติแล้วภาวะน้ำตาลในเลือดสูงไม่ได้ส่งผลต่ออาการขี้โมโหหรือหงุดหงิดง่าย แต่คนที่มีน้ำตาลในเลือดสูงถือว่าร่างกายไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ บางครั้งอาจรู้สึกไม่สบายตัวทำให้หงุดหงิดง่าย สำหรับคนที่กินของหวานแล้วอารมณ์ดีอาจเป็นเพราะการกินอาหารที่ชอบช่วยให้มีความสุข มีอารมณ์ดีขึ้น

อาการที่ 3 ง่วงนอน

อาการนี้ไม่จริง น้ำตาลในเลือดสูงไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้รู้สึกง่วงนอนมากขึ้น แต่เมื่อร่างกายมีน้ำตาลสูงจะทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อยากพักผ่อน

อาการที่ 4 ปัสสาวะบ่อย

อาการนี้จริง เพราะน้ำตาลในเลือดจะไปที่ไต ไตจึงขับปัสสาวะออกมาเยอะ สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าหากใครต้องลุกมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน 2-4 ครั้ง อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานได้ โดยปกติคนทั่วไปจะลุกมาเข้าห้องน้ำไม่เกิน 1-2 ครั้ง ส่วนจำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อวันก็ไม่ได้มีตัวเลขที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ดื่มเข้าไป

3 วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงสามารถป้องกันได้ด้วยการเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต ดังนี้

-เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลเชิงเดี่ยว เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ ขนมหวาน

-ลดอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น จำกัดปริมาณข้าวที่กิน

-ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้อ้วน

หากคนไข้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจนเป็นโรคเบาหวาน และหมอให้ใช้การรักษาด้วยยาแล้ว คนไข้ต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ และตรวจติดตามอาการทุก 3-4 เดือน เพื่อดูว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างดีก็มีโอกาสควบคุมโรคได้

ผศ.นพ.สิระ กอไพศาล

สาขาวิชาโรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล