นายกฯ คุยประธาน ADB ชื่นชมไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภูมิภาค
เมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 ที่โรงแรม InterContinental Kunming นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในห้วงการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 (The 8th GMS Summit) หลังเดินทางถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าหารือกับนายมาซาสึกุ อะซาคาวา (Mr. Masatsugu Asakawa) ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) หลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีขอบคุณ ADB สำหรับการสนับสนุน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program (CARES) ซึ่ง ADB สนับสนุนเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการต่าง ๆ รวมทั้งความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจในด้านต่างๆ เช่น การขนส่ง พลังงาน เศรษฐศาสตร์มหภาค และนโยบายการคลัง การสนับสนุนของ ADB ช่วยให้ไทยสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนได้ พร้อมชื่นชม ADB สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และหวังว่า ADB จะร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะทางในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายหลักในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แม้ไทยเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจำเป็นต้องสร้างการไหลเวียนของการเงินสีเขียว หรือการเงินที่เกี่ยวข้อง กับการลงทุนเพื่อลดมลภาวะจากภาคเอกชนและภาครัฐเพื่อความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประธาน ADB กล่าวว่า ไทยและธนาคารพัฒนาเอเชียมีความร่วมมือกันมายาวนาน และพร้อมจะส่งมอบความรู้และแนวทางการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ไทยอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่ง ADB และ ไทยได้มีการจัดทำแผนความร่วมมือด้านโครงการเงินกู้และความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างกัน (Country Programming Mission: CPM) ครอบคลุมทั้งโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นถนน การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการส่งเสริมเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทย ADB ถือว่าไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ (strategic partner) ของ ADB ในการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค การเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมโยงในภูมิภาคโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมไปถึงการเชื่อมโยงภาคเอกชน ซึ่ง ADB พร้อมกระชับความร่วมมือกับไทย เพื่อเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเพี่อสร้างความเจริญให้แก่ภูมิภาคนี้ด้วย