สหราชอาณาจักรเริ่มแคมเปญทดลอง "ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" ครั้งที่ 2

2024-11-06 10:35:58

สหราชอาณาจักรเริ่มแคมเปญทดลอง "ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" ครั้งที่ 2

Advertisement

ลอนดอน, 5 พ.ย. (ซินหัว) — โครงการรณรงค์นำร่องทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งที่ 2 ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีคนงานเข้าร่วมหลายพันคน เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ (4 พ.ย.) ที่ผ่านมา นับเป็นโครงการรณรงค์ชิ้นแรกที่ดำเนินภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงาน

การทดลองข้างต้น ซึ่งเปิดตัวโดยโครงการรณรงค์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ (4 Day Week Campaign) และไทม์ไวส์ (Timewise) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานที่ยืดหยุ่น จะครอบคลุมธุรกิจ 17 แห่งและจะกินระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งคาดว่าจะนำผลการทดลองนี้เสนอต่อรัฐบาลภายในฤดูร้อนปี 2025

รายงานฉบับล่าสุดจากออโตโนมี (Autonomy) หน่วยงานคลังสมอง ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยบอสตันในสหรัฐฯ ย้ำถึงผลลัพธ์เชิงบวกจากแผนนำร่องดังกล่าว โดยพบว่าร้อยละ 92 ของบรรดาบริษัทที่เข้าร่วมการทดลอง เลือกที่จะทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ต่อไปหลังจบระยะทดลอง โดยมีองค์กร 18 แห่งที่จะนำมาใช้เป็นนโยบายถาวร

อนึ่ง มีพนักงานราว 2,900 คนเข้าร่วมในการทดลองครั้งแรกที่เริ่มต้นเมื่อเดือนมิ.ย. 2022 และเผยแพร่ผลลัพธ์เมื่อเดือนก.พ. 2023

รายงานยังระบุถึงระดับความพึงพอใจสูงของกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วม โดยส่วนใหญ่เห็นผลประกอบการและผลิตภาพธุรกิจของตนมีเสถียรภาพ นอกจากนั้น พนักงานร้อยละ 71 รายงานพบภาวะหมดไฟลดน้อยลง และบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.4 อีกทั้งอัตราการลาออกและลาป่วยของพนักงานยังลดลงด้วย

การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์นี้ได้รับการสนับสนุนจากแองเจลา เรย์เนอร์ รองหัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งกล่าวว่า “หากเราสามารถทำงานเสร็จได้ภายในการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แล้วเหตุใดถึงไม่ลองดูล่ะ”

อย่างไรก็ดี พรรคอนุรักษ์นิยมกลับแสดงการคัดค้านต่อแผนริเริ่มดังกล่าว โดย เควิน ฮอลลินเลค รัฐมนตรีเงา กระทรวงธุรกิจและการค้าของพรรคอนุรักษ์นิยม วิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอนี้ว่าแม้จะมีการเตือนจากอุตสาหกรรมอยู่หลายครั้ง แต่แองเจลา เรย์เนอร์ก็ยังผลักดันกฎหมายในรูปแบบสหภาพ ซึ่งจะเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจในสหราชอาณาจักร

ฮอลลินเลคกล่าวอีกว่าพรรคแรงงานจำเป็นต้องใส่ใจต่อข้อกังวลหลายประการของผู้ประกอบธุรกิจ เช่นเรื่องสิทธิการจ้างงานโดยตรง รวมถึงความเป็นไปได้ที่แนวทางการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะมีผลบังคับใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากพรรคแรงงานไม่เปิดใจรับฟัง ทั้งธุรกิจ ผู้บริโภค และการเติบโตทางเศรษฐกิจล้วนแต่จะต้องแบกรับผลกระทบ