นายกรัฐมนตรียันเดินหน้าเอ็มโอยู 44 ถามยกเลิกแล้วได้อะไร ไทยไม่เสียเปรียบ ทุกคนสบายใจได้ไม่เสียเกาะกูดแน่นอน
เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) แถลงภายหลังประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ถึงความชัดเจนเรื่องบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือ "เอ็มโอยู 44" ว่า เอ็มโอยู 44 ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเกาะกูด และเกาะกูดไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยู เรื่องนี้ไม่ได้มีการถกเถียง เพราะเกาะกูดเป็นของไทย และหากไปดูการตีเส้น เขาก็ตีเส้นเว้นเกาะกูดไว้ให้เรา ซึ่งการพูดคุยกันในวันนี้ ไม่ได้พูดคุยเกี่ยวกับที่ดิน แต่พูดถึงที่ดินในทะเลว่าสัดส่วนใครขีดเส้นอย่างไร เพราะในเอ็มโอยูขีดเส้นไม่เหมือนกัน เนื้อหาในเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าจะมีการเจรจากันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นหากจะเกิดอะไรขึ้น จะมีข้อตกลงอะไร เราต้องมีคณะทำงานขึ้นมาพูดคุยกัน ตอนนี้คณะกรรมการของกัมพูชามีอยู่แล้ว แต่ของเราเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็ต้องเปลี่ยนคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ด้วย และตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนี้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวอยู่ ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะนาน เพราะดำเนินการมาประมาณ 1 เดือนแล้ว เมื่อเสร็จแล้วจะได้ศึกษาและพูดคุยกันว่า ระหว่าง 2 ประเทศ ตกลงกันอย่างไร
ต่อข้อว่าการไม่ยกเลิกเอ็มโอยู ทำให้คนมองว่าเรายอมรับการขีดเส้นของกัมพูชาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อันนั้นคือความเข้าใจผิด เราไม่ได้ยอมรับเส้นอะไร เอ็มโอยูดังกล่าวคือการที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่เราต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้ง 2 ประเทศ ตั้งแต่ปี 2515 กัมพูชาขีดเส้นมาก่อน ต่อมาปี 2516 เราขีดเส้นด้วย แม้จะขีดเหมือนกัน แต่ข้อตกลงข้างในไม่เหมือนกัน จึงทำเอ็มโออยู่ขึ้นมา และเปิดการเจรจาให้ทั้ง 2 ประเทศตกลงกันว่าจะเป็นอย่างไร ขอย้ำว่าเกาะกูดไม่เกี่ยวกับการเจรจานี้ ให้คนไทยทุกคนสบายใจได้เลยว่าเราจะไม่เสียเกาะกูดไป และกัมพูชาก็ไม่ได้สนใจเกาะกูดของเราด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องนี้
เมื่อถามต่อว่ามีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 นายกฯ กล่าวว่า ต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร เราต้องกลับมาที่เหตุและผล ทุกประเทศคิดไม่เหมือนกันได้ จึงต้องมีเอ็มโอยูว่า ถ้าคิดไม่เหมือนกันเราต้องคุยกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก การรักษาไว้ซึ่งความสงบระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ ในเอ็มโอยูดังกล่าว เปิดให้ 2 ประเทศพูดคุยกัน จึงต้องถามว่ายกเลิกแล้วได้อะไร ถ้ายกเลิกฝ่ายเดียวโดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน ซึ่งไม่มีประโยชน์
ต่อข้อถามว่า การยืนยันวันนี้ อาจถูกมองว่ารัฐบาลเดินต่อโดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นายกฯ กล่าวว่า ไม่จริงเลย ที่เรามากันในวันนี้ ทุกคนตกลงกันอย่างง่ายดาย และเข้าใจคอนเซปต์เดียวกันว่า ตกลงอันนี้คือข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่เกี่ยวกับเสียงคัดค้าน วันนี้ที่ออกมาพูดให้ประชาชนฟัง เพื่อจะอธิบายว่า 1.เอ็มโอยูไม่เกี่ยวกับเกาะกูด 2.เอ็มโอยูคือเรื่องระหว่างสองประเทศ หากจะยกเลิกต้องเป็นการตกลงระหว่างประเทศ และ 3.เรายังไม่เสียเปรียบเกี่ยวกับข้อตกลงเลย ฉะนั้น อย่าเอาเรื่องของการเมืองมาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน เราอยากให้เข้าใจตรงกันตามหลัก
เมื่อถามย้ำว่ายืนยันว่ารัฐบาลนี้จะเดินหน้าเอ็มโอยูใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอนเราจะเดินต่อ ตอนนี้กัมพูชารอเราในเรื่องขอคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา ที่จะไปศึกษาและพูดคุย ซึ่งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพลังงาน จะมาช่วยกัน เมื่อถามอีกว่ากลัวประเด็นนี้จะบานปลายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าทุกคนเข้าใจในหลักการแล้ว ไม่น่าจะบานปลาย เพราะทั้งหมดคือข้อเท็จจริงไม่มีการคุยอะไรข้างหลัง เพราะที่ตนกล่าวมาคือกรอบเป็นหลักคิด เป็นกฎหมาย ย้ำว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เผือกร้อนของตน
เมื่อถามอีกว่าจะใช้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จ ฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาในเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถสามารถสร้างคอนเน็คชันที่ดีได้ เหมือนเรามีเพื่อนสนิทเราก็สามารถคุยกันได้ แต่เรื่องของประโยชน์ของประเทศเขาและประเทศเรา เราต้องใช้คณะกรรมการเพื่อไม่ให้มีอคติ ความรู้สึกของฉันของเธอขึ้นมา เราใช้คณะกรรมการเพื่อให้เกิดความรู้จริง รู้ครบและยุติธรรม
ต่อข้อถามว่า ยืนยันจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างสูงสุดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ดิฉันเป็นคนไทย 100% ประเทศไทยต้องมาก่อนคนไทยต้องมาก่อนรัฐบาลนี้ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่ และจะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขที่สุด