ดร.ธรณ์แนะทุกฝ่ายประเมินผลกระทบก่อนติดตั้งทุ่นลอยกันฉลามที่หาดทรายน้อยเป็นครั้งแรกในประเทศ
วันที่ 20 เม.ย. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายพัลลภ สิงหเสนี ผวจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่หาดทรายน้อย หมู่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน บริเวณที่นักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ ถูกฉลามทำร้ายบาดเจ็บสาหัส ขณะลงเล่นน้ำทะเลเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา มีนายบรรณารักษ์ เสริมทอง ผอ.สำนัก ทช.ที่ 3 จ.เพชรบุรี พ.ต.อ.ธนากร วงศ์สิริลักษณ์ ผกก.สภ.หัวหิน พ.ต.ท.ขจรยศ ทรงประดิษฐ์ สารวัตรตำรวจน้ำปราณบุรี นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน เตรียมให้ข้อมูลท่ามกลางบรรยากาศชายหาดเงียบเหงามีเพียงนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งเดินเล่นอยู่ริมฝั่งหลังเจ้าหน้าที่นำป้ายมาปักเตือน ห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้
นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกันทุกฝ่ายหารือมาตรการการป้องกัน ซึ่งก็ไม่อยากให้นักท่องเที่ยวลงเล่นนํ้าทะเลในบริเวณนี้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม สำหรับมาตรการทั่วไปคือการเฝ้าดูระบบนิเวศของปลาฉลามที่พบว่าอยู่กันอย่างไรมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่ที่เห็นได้ชัดคือระบบนิเวศของทะเลบริเวณนี้สมบูรณ์เป็นสิ่งที่น่ายินดี ส่วนเหตุการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติถูกฉลามทำร้ายอาจจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลา แต่ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เมื่อถึงวันนี้แล้วเราก็ต้องมาหาวิธีแก้ไข โดยทางกรม ทางจังหวัด และทางท้องถิ่นต้องทำคือการวางทุ่นโดยได้เตรียมสั่งทำทุ่นและได้นำโมเดลการออกแบบมาจากประเทศออสเตเรียเตรียมการไว้แล้ว แต่การวางทุ่นต้องเป็นไปตามความพึงพอใจของประชาชนหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ให้เกิดความตระหนกตกใจ โดยจะมีการประชุมหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องปลาฉลามอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย.ที่ แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือแมงกะพรุน เพราะพื้นที่นี้แมงกะพรุนมีพิษค่อนข้างเยอะก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ป้องกันไปพร้อมๆ กัน
ด้านนายบรรณารักษ์ กล่าวต่อว่า ระหว่างที่รอผลสรุปรูปแบบทุ่นกันฉลามบริเวณหาดทรายน้อยนี้ ได้มีการเตรียมทุ่นไข่ปลามาลองวางป้องกันดูว่าสามารถป้องกันสัตว์นํ้าและแมงกะพรุนได้ดีแค่ไหน โดยขนาดถี่ของตาข่ายจะอยู่ที่ 2.5 นิ้ว ระยะทางยาวราว 350 เมตร และหากได้ข้อสรุปของทุ่นที่จะนำมาใช้กันฉลามอย่างแน่ชัดเมื่อใดก็จะเริ่มติดตั้งทันที
นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่า เบื้องต้นเทศบาลได้ตั้งงบประมาณ 4 แสนบาทเพื่อติดตั้งทุ่นอวนหน้าชายหาดทรายน้อยความยาว 350 เมตร ตามแบบที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กำหนด ล่าสุดการใช้งบประมาณอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปตามอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของเทศบาลหรือไม่ แต่เบื้องต้นถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนระยะเวลาการติดตั้งทุ่นลอยมีการประเมินว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 30 วันหากครบกำหนดปิดหาดในช่วงแรก ก็จะประกาศขยายเวลาปิดชายหาดเพิ่มเติม
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมทางทะเลชื่อดัง กล่าวว่า จากกรณี จ.ประจวบคีรีขันธ์สั่งปิดหาดทรายน้อย และห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลจนกว่าจะวางทุ่นตาข่ายกันฉลามเสร็จ ขอเรียนว่าการวางทุ่นดังกล่าวเคยดำเนินการเพื่อป้องกันแมงกะพรุนกล่อง และในประเทศไทยไม่เคยมีหน่วยงานใดวางทุ่นตาข่ายป้องกันฉลาม ดังนั้นจะต้องสำรวจว่าก่อนกั้นในพื้นที่เป้าหมายมีฉลามหรือสัตว์ทะเลหายากตกค้างในบริเวณที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งจะต้องสำรวจระบบนิเวศชายฝั่งอย่างละเอียดต้องใช้เวลาพอสมควร และหากกั้นแล้วฉลามไปโผล่บริเวณชายหาดใกล้เคียงจะทำอย่างไร ทั้งที่ยืนยันว่าโอกาสที่ฉลามจะกัดคนมีเพียง 1 ใน 200 ล้านคนเท่านั้น สำหรับในต่างประเทศที่มีการกั้นตาข่ายในทะเล จะดำเนินการในจุดที่มีฉลามขาวขนาดใหญ่เท่านั้น สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมาเคยมีปัญหาที่ จ.ภูเก็ต ก็พบว่าไม่มีการกั้นตาข่ายแต่อย่างใด
“ที่หัวหินถือว่าเป็นเหตุบังเอิญ หลังจากมีฉลามตัวเล็กๆกัดขาคนแล้วต้องกั้นตาข่าย ทั้งที่ประเทศไทยฉลามเคยกัดคนในพื้นที่อื่น ที่หัวหินไม่ใช่พื้นที่แรก เพราะฉะนั้นก็จะต้องติดตามผลในระยะยาว ส่วนทุ่นตาข่ายที่นำไปกั้น จะต้องติดตามดูว่ามีสัตว์ทะเลประเภทอาจติดตาข่ายหรือไม่ต้องตรวจสอบทุกวัน และต้องตรวจสอบความแข็งแรงตลอดระเวลาหลังติดตั้ง เนื่องจากในท้องทะเลมีเรือประมง เรืองท่องเที่ยวแล่นผ่าน น้ำขึ้นน้ำลง คลื่นทะเลขนาดใหญ่ตามธรรมชาติ” ดร.ธรณ์ กล่าว