"วราวุธ"ให้โอวาทคณะเยาวชนไทยร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 48 ย้ำสร้างเครือข่ายการทำงาน ภาพพจน์ของประเทศ
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้โอวาทและมอบเข็มเครื่องหมายเยาวชนพระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 48 ประจำปี 2567 โดยนางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน นำคณะเข้าพบ ว่า ในนาม รมว.พม. มีความยินดีแก่น้องๆ ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 48 และขอชื่นชมในความสามารถ รวมทั้งความกล้าในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ และการมีความตระหนักในการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) ที่น้อง ๆ ท้าทายตนเองด้วยการเปิดกว้าง และเรียนรู้ที่จะยอมรับในวัฒนธรรมที่หลากหลายร่วมกับเพื่อนๆ จากประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำเยาวชนเพื่อพัฒนาในระดับภูมิภาคอาเซียน ไม่ใช่เพียงแต่ในระดับประเทศ
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า พม. เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถดำเนินการสำเร็จได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนและหุ้นส่วนทางสังคม รวมถึงแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มสำคัญ คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 48 ประจำปี 2567 เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2517 เป็นโครงการที่สร้างโอกาสให้กับน้องๆ จากประเทศสมาชิกอาเซียนและญี่ปุ่น ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันมีเยาวชนไทยกว่า 1,300 คน ที่ได้รับโอกาสที่ดีจากโครงการนี้ โดยเยาวชนจะได้รับประสบการณ์และมีโอกาสทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน และสิ่งสำคัญกว่านั้น คือ น้องๆ ที่มาจากหลากหลายประเทศ สามารถปรับตัว และร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน เพื่อเอาชนะอุปสรรคและทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น ต้องอาศัยความตั้งใจของน้องๆ ที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเรียนรู้การทำงานเป็นทีม รวมถึง “การรวมพลังและเป็นครอบครัวเดียวกัน” นับเป็นโอกาสที่จะเพิ่ม “ครอบครัวโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์” และเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาในระดับเยาวชนร่วมกัน
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า เป็นที่น่าดีใจ ว่าระยะเวลา 39 วัน ที่น้องๆ เข้าร่วมโครงการนี้ จะได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของ Citizen of the World ซึ่งเชื่อว่าทุกคนที่ได้มีโอกาสไปอยู่บนเรือลำนี้ จะได้แสดงความสามารถและศักยภาพของเรา ที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะยืนอยู่ตรงจุดไหน และการที่เราได้มีโอกาสเป็นตัวแทนประเทศไทย ซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้ง ว่าที่คุณหมอ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน รวมถึงสถานศึกษา วันนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องไปรับรู้รับฟังข้อมูลของประเทศอื่น จะได้ไปสัมผัสกับเพื่อนๆ อีก 11 ประเทศ และได้เห็นถึงการที่อยู่ร่วมกันของ Global Citizenship มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก อยากให้น้องๆ ได้คิดว่าเรากำลังจะทำอะไรให้โลกใบนี้ ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทย วันนี้เรามีเข็มเครื่องหมายเยาวชนพระราชทานให้กับน้องๆ ทุกคน เรามีป้ายชื่อที่มีธงชาติไทยติดอยู่ ซึ่งมีความหมายและมีน้ำหนักที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย 68 ล้านคน ดังนั้น 39 วันที่เราจะใช้เวลาอยู่ร่วมกันกับเพื่อนอีก 11 ประเทศ อยากให้ทุกคนได้ตระหนักว่าทุกอย่างที่เราพูด ทุกอย่างที่เราทำ คือภาพพจน์ของประเทศไทย ที่อยากให้คนอื่นได้เห็นหรือไม่ ฉะนั้นเมื่อเวลาขึ้นเรือไปแล้ว ขอให้ไปสร้างเพื่อนกับอีก 11 ประเทศให้มากที่สุด และคิดว่าเราจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างไร
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า พม. ขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของโครงการฯ และขอขอบคุณสมาชิกประเทศอาเซียนที่ได้มีส่วนสนับสนุนและส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินต่อไป ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในเวทีต่างประเทศ สุดท้ายนี้ สำหรับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ให้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในชีวิต และขอให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่พิเศษ และเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง และขอให้รู้จักการสร้างเครือข่ายการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ และส่งผลดีต่อประเทศชาติต่อไป
นางอภิญญา กล่าวว่า สำหรับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 48 ประจำปี 2567 ณ ประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นโครงการตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 168 คน ประกอบด้วย เยาวชนจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ยกเว้นเมียนมา) ประเทศละ 15 คน เยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น 20 คน หัวหน้าคณะของแต่ละประเทศๆ ละ 1 คน และ เยาวชนจากประเทศติมอร์ - เลสเต 2 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์