"ไอติม"เผย กมธ. พัฒนาการเมืองขอพบประมุข 3 ฝ่าย หวังร่วมหาทางออกให้ประเทศมี รธน.ฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 67 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเพจ พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ระบุว่า กมธ. พัฒนาการเมืองฯ ออกหนังสือขอเข้าพบ นายกรัฐมนตรี-ประธานรัฐสภา-ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หวังร่วมหาทางออกให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ณ เวลานี้ เกือบเป็นที่แน่นอนแล้ว ว่าหากรัฐบาลเดินตาม “แผนเดิม” เราจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตามนโยบายที่รัฐบาลเคยได้ประกาศไว้
"แผนเดิม" ที่ว่านี้ คือแผนที่ ครม. เศรษฐา มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 67 (ซึ่ง ครม. แพทองธาร ยังไม่เคยสื่อสารว่ามีแผนที่เปลี่ยนแปลงไป) ให้มีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกอบไปด้วยการทำประชามติจำนวน 3 ครั้ง โดยกำหนดว่าจะไม่มีการจัดประชามติครั้งแรกจนกว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย แต่ ณ ปัจจุบัน การพิจารณาร่างร่างแก้ไข พ.ร.บ. ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จนทำให้ประชามติรอบแรกยากที่จะเกิดขึ้นทันช่วงเดียวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นใน ก.พ. 68 (ซึ่งเป็นแผนเดิมของรัฐบาล) ดังนั้น ผมเห็นว่าหากรัฐบาลยังต้องการบรรลุเป้าหมายในการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลจำเป็นต้องคิด "แผนใหม่"
ในบรรดาทางเลือกที่เหลืออยู่ ผมเห็นว่าทางเดียวที่เป็นไปได้ คือการลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ขั้นตอนแรกของกระบวนการดังกล่าวคือการให้รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการมีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (แก้ไขมาตรา 256 & เพิ่มหมวด 15/1) - แม้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลต่างได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญลักษณะดังกล่าวสู่รัฐสภาตั้งแต่ต้นปี 2567 แต่รัฐสภายังไม่ได้มีโอกาสพิจารณาร่างเหล่านั้นเพราะประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุร่างดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ซึ่งยังมีการตีความที่แตกต่างกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาและภายในสังคม แม้ผมเคยอภิปรายโดยละเอียดว่าทำไมผมเห็นว่าการเดินหน้าด้วยกระบวนการประชามติ 2 ครั้ง และการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่รัฐสภา สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญทุกประการ แต่เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย ทางผมและ กมธ. พัฒนาการเมือง จึงได้ทำหนังสือขอเข้าพบกับ 3 บุคคลสำคัญ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกและ "แผนใหม่" ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้ง
1. นายกรัฐมนตรี (ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล) - โดยส่วนตัว ผมหวังจะหารือกับทุกพรรคการเมืองในรัฐบาล ให้เห็นตรงกันถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการเดินหน้าด้วยแผนการทำประชามติ 2 ครั้ง (รวมถึงร่วมกันหาวิธีการในการหารือกับสมาชิกวุฒิสภาให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน)
2. ประธานรัฐสภา - โดยส่วนตัว ผมหวังจะหารือให้ประธานรัฐสภาเห็นว่าการทบทวนหันมาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา (ซึ่งจะลดจำนวนประชามติจาก 3 เหลือ 2 ครั้ง) สอดคล้องกับกฎหมายและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
3. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ - โดยส่วนตัว ผมหวังจะหารือให้ศาลรัฐธรรมนูญขยายความความหมายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประกอบด้วยการทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง
ผมหวังว่าทั้ง 3 ท่านจะยินดีให้ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ เข้าพบท่านหรือตัวแทนของท่านที่สามารถตัดสินใจหรือให้ความเห็นแทนท่านได้ เพื่อร่วมหารือถึงทางออกในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนและต้องอาศัยหลายภาคส่วนในการจับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน
ขอบคุณเพจ พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu