รามาฯ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับ "ลิ่มเลือดอุดตัน" ภัยร้ายที่ป้องกันได้ ชี้หากนิจฉัยล่าช้า ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ เพิ่มอัตราการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 ที่านกิจกรรมจิตอาสา ชั้น 1 อาคารหลัก (อาคาร1) คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทุกวันที่ 13 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันหลอดเลือดอุดตันโลก ในวันนี้ศูนย์โรคเลือดออกง่ายและหลอดเลือดอุดตัน ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง ภายใต้กลุ่มศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดกิจกรรม โครงการลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ภัยร้ายที่ป้องกันได้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ ประชาชนมีความรู้และ เข้าใจ อาการ และ แนวทางการรักษาเพื่อให้มีความตระหนักและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
โดย ศ. นพ.พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ President of International Society on Thrombosis and Heamostasis กล่าวเปิดงาน และ เป็นผู้กล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ โดยภายในงานมีการจัดกิจกรรมมากมาย ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดอุดตัน โดย รศ. พญ.กชวรรณ บุญญวัฒน์ กิจกรรมพูดคุยเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดอุดตันในผู้ป่วยมะเร็ง อาการแสดง การรักษา การลดความเสี่ยง และการป้องกัน โดย ศ. พญ.นงนุช สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์โรคเลือดออกง่ายและหลอดเลือดอุดตัน อ. พญ.พิจิกา จันทราธรรมชาติ และคุณจาคี ฉายปิติศิริ อดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะที่ 4 ผู้สร้างและดูแลเพจ "จาคี มะเร็งไดอารี่" นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนร่วม อาทิ โต๊ะตอบปัญหาทางด้านสุขภาพโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จุดให้ความรู้เกี่ยวกับโรคลิ่มเลือดอุดตัน และจุดรับบริจาคเงินเข้ากองทุนผ่านมูลนิธิรามาธิบดี และจุดจับสลากการกุศลสำหรับผู้ที่มาร่วมงาน
ศ.พญ.นงนุช สิระชัยนันท์ หัวหน้าศูนย์โรคเลือดออกง่ายและหลอดเลือดอุดตัน กล่าวว่า หลอดเลือดคือส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในร่างกายที่คอยลำเลียงเลือดและสารต่าง ๆไปตามอวัยวะและทำให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เมื่อเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำจะส่งผลทำให้เลือดผ่านหลอดเลือดนั้นได้ยาก และหากลิ่มเลือดนั้นหลุดไปตามกระแสเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดที่ขาและปอด อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลารวดเร็วถ้าไม่สามารถรักษาแก้ไขได้ทัน สาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดมักพบในคนที่มีความเสี่ยงจากภาวะ หรือ โรคทางกาย เช่น ความจ็บป่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย โรคที่ทำให้เกิดภาวะการอักเสบ และ โรคมะเร็ง และ หากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพ และ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในคนไข้
คุณจาคี ฉายปิติศิริ อดีตผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะที่ 4 กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปแล้วภาวะลิ่มเลือดอุดตันอาจจะเป็นอะไรที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งอาจจะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้นี้จะช่วยให้คนได้รู้จักและรู้ทันกับเรื่องนี้มากขึ้น และถ้าผู้ป่วยมีความผิดปกติอะไรเบื้องต้นจะได้แจ้งให้คุณหมอทราบได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและป้องกันการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นจนเป็นอันตรายร้ายแรงได้