รามาธิบดีกับระบบประเมินผลสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่

2024-10-09 13:57:40

รามาธิบดีกับระบบประเมินผลสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่

Advertisement

รามาธิบดีกับระบบประเมินผลสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ ยกเลิกการประเมินแบบมีแต้มประจำ  A-F หรือ เกรด 0-4 เปลี่ยนเป็นการประเมินเป็นพอใจ ไม่พอใจ โดยใช้สัญลักษณ์ S  หรือ  U  ยังคงให้มีเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 ตามการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรได้กำหนดไว้

เมื่อวันที่ 9 ต.ค.67 ที่ห้องประชุม 910B ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานแถลงข่าว รามาธิบดีกับระบบประเมินผลสำหรับนักศึกษาแพทย์รุ่นใหม่ (Ramathibodi and the Reform of Assessment for the Next Generation Medical Students) ขึ้น เพื่อเพื่อต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การปรับเปลี่ยนเกณฑ์การนำเสนอผลการเรียนการสอนในรายวิชาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี และสถาบันร่วมผลิต รพ.มหาราชนครราชสีมา ในการปรับหลักสูตรและระบบการประเมินผลใหม่เริ่มใช้ในนักศึกษาที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2568 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการประเมินแบบมีแต้มประจำคือ A-F หรือ เกรด 0-4 เปลี่ยนเป็นการประเมินแบบไม่มีแต้มประจำ โดยใช้สัญลักษณ์ S-Satisfactory (พอใจหรือผ่าน) / U-Unsatisfactory (ไม่พอใจหรือตก) โดยยังคงให้มีเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 ตามการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ที่หลักสูตรได้กำหนดไว้

ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับสากล ในฐานะที่เป็นส่วนงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น 1 ใน 100 World Class University โดยมีกลยุทธ์พันธกิจด้านการศึกษา เป็นการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ของการเรียนรู้ โดยมีรากฐานของวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ซึ่งเปิดกว้างให้อาจารย์และนักศึกษาแพทย์ แลกเปลี่ยนความคิดโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน อาจารย์และนักศึกษามีความใกล้ชิดเป็นกันเอง ทำให้ช่วยส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และส่งเสริมการทำประโยชน์สู่ชุมชนและสังคม โดยมีนักศึกษาแพทย์เป็นแกนหลักในกิจกรรมต่าง ๆ มาโดยตลอด หลักสูตรของแพทยศาสตรบัณฑิตได้พัฒนาจากการสร้างแพทย์ที่มีความเก่ง เชี่ยวชาญในวิชาชีพแพทย์ มีทักษะในการให้การบริบาลรักษาผู้ป่วย สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคให้แก่ประชาชน

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตในปัจจุบันมีการจัดการศึกษาด้วยปรัชญาการศึกษา แบบ Outcome-based Education จัดการศึกษาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนโดยใช้การเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างเสริมความรู้ ความสามารถและทักษะใหม่ได้ด้วยตนเอง และมีสมรรถนะของการเป็นแพทย์ที่มีมาตรฐานวิชาชีพและเป็น change agent ในปีการศึกษา 2568 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปรับระบบการประเมินผล โดยยกเลิกเกรด A-F และแต้ม 0-4 ที่เรียกว่าการประเมินแบบมีแต้มประจำ เป็นการรายงานผลการประเมินในแต่ละรายวิชาเป็น พอใจ (Satisfactory) ไม่พอใจ (Unsatisfactory) S/U หรือระบบการประเมินแบบไม่มีแต้มประจำ นักศึกษาแพทย์ที่สอบผ่านได้ตามมาตรฐานของรายวิชา ไม่ว่าจะด้วยคะแนนเท่าไหร่ จะได้รับผลการเรียนเป็น พอใจ (Satisfactory) นักศึกษาแพทย์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานรายวิชาจะได้รับไม่พอใจ (Unsatisfactory) โดยมีเป้าหมายหลักในการปรับการประเมินผลและประเมินสมรรถนะผู้เรียนแบบใหม่นี้ เพื่อ 1)ประเมินทุกสมรรถนะของผู้เรียนในหลักสูตร Outcome-based education ได้เท่าเทียมมากขึ้นทั้งความรู้ ทักษะ เจตคติ ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีมและสมรรถนะอื่น ๆ ที่หลากหลาย 2) ส่งเสริมการประเมินเพื่อการเรียนรู้และพัฒนา นอกเหนือไปจากการประเมินเพื่อตัดสิน 3) ลดเปรียบเทียบแข่งขันกัน ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือและทำงานเป็นทีมมากขึ้น 4) ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ร่วมกับระบบอาจารย์ที่ปรึกษา 5) ฝึกการสร้างแรงจูงใจในการเรียนโดยไม่ได้ใช้เกรดเป็นตัวกระตุ้น 6) ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการของนักศึกษาแต่ละคน 7) ส่งเสริม well-being ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การปรับการประเมินผลแบบใหม่นี้ เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลิตบัณฑิตแพทย์ได้แพทย์ที่มีมาตรฐานวิชาชีพและมีความรู้ความสามารถทันสมัยรอบด้าน ตรงกับความต้องการและความสามารถเฉพาะบุคล ที่อาจมีศักยภาพแตกต่างหลากหลาย ให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ เป็นแพทย์มีสุขภาวะที่ดี สร้างการเปลี่ยนแปลงสู่สุขภาวะที่ดีของสังคมโลกต่อไป

นอกจากนี้ คณะในปีพ.ศ. 2565 ได้มีการยกระดับความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ รพ.มหาวิทยาลัยมหิดล กับ รพ.มหาราชนครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข โดยการปรับปรุงหลักสูตรเดิมและเปลี่ยนชื่อเป็น “หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี สถาบันร่วมผลิต รพ.มหาราชนครราชสีมา” เพื่อมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตรับใช้ชุมชน และเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เป็นต้นมา

ศ.นพ. สามารถ ภคกษมา รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีการรับนักศึกษาแพทย์ 2 รอบ ได้แก่ รอบรับตรง TCAS-1 ซึ่งใช้การพิจารณาแฟ้มสะสม (Portfolio) และการสัมภาษณ์ คัดเลือกนักศึกษารับเข้าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตเรียน 6 ปี และหลักสูตร 2 ปริญญาเรียน 7 ปี ได้แก่ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต นานาชาติ (สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) ปริญญาโทควบคู่ไปกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต และคัดเลือกผ่าน กสพท. TCAS-3 ในส่วนของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันร่วมผลิตโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะเปิดรับในรอบ TCAS-2 ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดกว้างในการรับนักศึกษาแพทย์อย่างมาก ทั้งจากโรงเรียนไทย นานาชาติและต่างประเทศ

จุดเด่นของหลักสูตรคณะ อาทิ มีอาจารย์แพทย์เชี่ยวชาญหลายสาขาดูแลใกล้ชิด มีการเรียนการสอน จัดประสบการณ์เกี่ยวกับระบบสุขภาพในระดับชุมชน นักศึกษาได้ลงพื้นที่ชุมชนในชนบท นักศึกษามีผลงานวิจัยและได้รับการพัฒนาทักษะด้านการวิจัยและให้ทุนสนับสนุน สามารถนำเสนอผลงานได้ทั้งภายในและต่างประเทศ มีการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น Game based learning, Metaverse ที่หลักสูตรจัดทำขึ้นเอง เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เลือกเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต นานาชาติ (วิศวกรรมชีวการแพทย์) และหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต นานาชาติ ควบคู่ไปกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มีวิชาเลือกและกิจกรรมนอกหลักสูตรหลากหลายเพื่อพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้รอบด้านทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ มีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จทำประโยชน์ให้กับสังคม มีคู่ความร่วมมือทางการศึกษากับสถาบันนานาชาติเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาวิชาเลือกได้โดยมีทุนสนับสนุน และการสภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดีที่เข้มแข็ง นักศึกษามีส่วนร่วมในสถาบันจนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ASPIRE-to-Excellence 2022 Award for Student Engagement จาก Association for Medical Education in Europe (AMEE) สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ในปี 2565 มีปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ การแพทย์ หรือ วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) รองรับกรณีนักศึกษาไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามเงื่อนไข

นพ.ณัฐกุล แย้มประเสริฐ ผู้ช่วย ผอ.ด้านภารกิจผลิตบุคลากรและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  รพ.มหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์  รพ.รามาธิบดีสถาบันร่วมผลิต  รพ.มหาราชนครราชสีมา หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2568 เป็นหลักสูตรที่อยู่ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนทบท ภายใต้การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและกระทรวงสาธารณสุข รับนักเรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตลอดหลักสูตรในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดเด่นของหลักสูตรคือ การเรียนการสอนที่ใช้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่มีจำนวนผู้ป่วยและความหลากหลายของโรคครอบคลุมเพียงพอต่อการประกอบเวชปฏิบัติ เป็นฐานฝึกปฏิบัติในระดับชั้นคลินิก เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจภาพรวมบริบทของการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศโดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 9 จัดเรียนการสอนชั้นปีที่ 1 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ชั้นปีที่ 2-3 ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และชั้นปีที่ 3 ตอนปลายจนถึงปีที่ 6 ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลชุมชนในเขตสุขภาพที่ 9 รับนักเรียนเข้ามาในหลักสูตรผ่านระบบ TCAS รอบที่ 2 (โควตา) โดยมีรายละเอียดคุณสมบัติของผู้สมัครตามประกาศของมหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.พญ. ปองทอง ปูรานิธี รองคณบดีฝ่ายการศึกษาระดับปริญญา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การปรับระบบการประเมินผลใหม่ มีเป้าหมายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ฝึกฝนการมีทักษะรอบด้าน ฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีเกรด มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ลดความเครียด และส่งเสริมการเรียนและทำงานร่วมกันเป็นทีม กระบวนการที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นหนึ่งในแผนพัฒนาระบบการประเมินผลให้มีหลักการแบบ Programmatic assessment นำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งใช้ในสถาบันชั้นนำสากล ซึ่งริเริ่มแผนตั้งแต่ในสมัยผู้บริหารวาระที่ผ่านมา และได้ทำการพัฒนาระบบต่าง ๆอย่างต่อเนื่อง ทางคณะแพทย์ได้มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากคณาจารย์ ผู้บริหาร นักศึกษาและบุคลากร เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งทางคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีมติรับรองการเปลี่ยนแปลงระบบประเมินผลแบบใหม่ เนื่องจากเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อนักศึกษาที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต และได้รับการรับรองจากสภามหาวิทยาลัย ผ่านข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดลว่าด้วยการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญารี พ.ศ.2567 รายละเอียดของการประเมินผลแบบใหม่ มีดังนี้

การยกเลิกเกรด A-Fหรือ 0-4 หรือแบบมีแต้มประจำ เปลี่ยนเป็นแบบ S/U จะมีผลใช้ในนักศึกษารหัส 68 ที่จะรับเข้าเริ่มการศึกษาในปี 2568 ในชั้นปี 1 และจะมีผลต่อเนื่องเมื่อนักศึกษาศึกษาในชั้นปีต่อไป ตลอดหลักสูตร 6 ปี และยังคงมีเกียรตินิยมอันดับ 1 และ 2 โดยนักศึกษาที่มีผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 7 ด้านตลอดหลักสูตร อยู่ในเกณฑ์ดีมากจะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 และ ผลการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ 7 ด้านตลอดหลักสูตร อยู่ในเกณฑ์ดีเลิศจะได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 ทั้งนี้ต้องไม่มีรายวิชาใดได้ U มีระยะเวลาเรียนไม่เกินระยะเวลาเรียนปกติ สอบผ่านตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด และจะต้องมีความประพฤติเหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีแห่งปริญญาด้วย

การยกเลิกเกรด จะแยกคนที่เรียนเก่ง เรียนอ่อนได้หรือไม่อย่างไร คณะ ได้จัดทำระบบการติดตามความก้าวหน้าของนักศึกษา โดยนักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษา สามารถเข้าดูความก้าวหน้าของสมรรถนะของนักศึกษาแพทย์ได้ โดยมีข้อมูลป้อนกลับที่มีรายละเอียดมากกว่าเกรดA-F ในแต่ละรายวิชา รวมทั้งรวบรวมผลงานกิจกรรมนอกหลักสูตร กิจกรรมจิตอาสา รางวัล งานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะช่วยให้นักศึกษาฝึกสะท้อนคิดการเรียนรู้ของตนเอง และวางแผนพัฒนาตนเอง โดยอาจารย์ให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการแยกคนเรียนเก่งหรืออ่อน แต่ต้องการให้นักศึกษามีแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลมีความแตกต่างหลากหลาย

การเปลี่ยนระบบประเมินจะมีผลต่อนักศึกษาแพทย์ในการสมัครเรียนต่อได้หรือไม่ เนื่องจากคณะฯ วางแผนเก็บข้อมูลผลการสอบ การประเมินสมรรถนะต่าง ๆ กิจกรรมเสริมในและนอกหลักสูตร ผลงานของนักศึกษา และวิชาที่นักศึกษาแพทย์เรียนเสริม เพิ่มศักยภาพ ข้อมูลเหล่านี้สามารถบ่งบอกตัวตน ประสบการณ์และสมรรถนะของนักศึกษาได้ โดยมีรายละเอียดที่ดีกว่าเกรด A-F จึงช่วยเป็นข้อมูลให้สถาบันฝึกอบรมสามารถพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาต่อไปได้

หากสอบตก นักศึกษามีโอกาสสอบแก้ตัวได้ 1 ครั้งหรือตามแต่ที่ประกาศคณะฯกำหนด หากยังสอบแก้ตัวไม่ผ่าน จะได้สัญลักษณ์ U นักศึกษาจะได้รับการประเมินว่าต้องการความช่วยเหลือด้านใน ซึ่งทางคณะฯมีระบบให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านการศึกษาและทางจิตใจ นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนซ้ำได้อีก 2 ครั้ง หากยังได้ U อาจมีผลพ้นสภาพตามข้อบังคับมหาวิทยาลัย โดยหลักสูตรปรับปรุงปี 2568 รองรับกรณีที่นักศึกษาที่ไม่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต แต่เรียนครบสอบผ่านอย่างน้อย 4 ปีตามเงื่อนไข นักศึกษาสามารถขอรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือ วท.บ. (วิทยาศาสตร์การแพทย์) ได้ เมื่อครบตามเงื่อนไขที่หลักสูตรกำหนดไว้ ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรปัจจุบัน

การประเมินผลแบบ S/U จะมีการสอบ การวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้ง 7 ด้าน โดยเน้นให้ทุกการสอบมีความหมาย มีข้อมูลนำไปพัฒนาตนเองต่อได้ และให้โอกาสได้รับการพัฒนาและประเมินใหม่เป็นระยะ จำนวนครั้งในการสอบอาจไม่ได้ลดลง แต่ความเครียดจากการสอบตกจะลดลง เพราะนักศึกษาจะมีโอกาสเก็บคะแนนและสอบแก้ตัวได้มากขึ้น ลดความเครียดจากการแข่งขัน เปรียบเทียบกันเพื่อให้ได้เกรดสูงกว่าจะลดลง

นักศึกษาบางคนอาจมีความคุ้นชินจากการเรียนโดยมีเกรด มีการแข่งขันเปรียบเทียบกระตุ้นในระดับมัธยม เมื่อไม่มีเกรด สิ่งที่จะกระตุ้นให้นักศึกษาตั้งใจคือการรู้จักประเมินตนเองต่อเนื่อง วางแผนพัฒนาตนเอง โดยอาศัยข้อมูลผลการสอบหรือการประเมินที่มีรายละเอียดเพียงพอ และมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยติดตาม ในระยะแรกนักศึกษาอาจจะต้องการการปรับตัวและต้องการความช่วยเหลือ แต่ในระยะยาวคาดหวังว่าจะสามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนได้ด้วยตนเอง สร้างทักษะที่ติดตัวไปตลอด เมื่อจบจากคณะแพทย์จะสามารถพัฒนาความรู้ ทักษะของตนเองเป็นหมอที่มีความรู้ มีทักษะรอบด้านที่ทันสมัยอยู่เสมอได้ด้วยตนเอง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเกรดและการแข่งขัน

ผศ. พญ.สุธิดา สัมฤทธิ์ ผอ.รร.แพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2560 ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สามารถจัดการศึกษาทั้งในระดับพรีคลินิกและคลินิก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา มีอาจารย์ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ PhD, PhD-MD และอาจารย์แพทย์สาขาต่าง ๆ ร่วมสอนในหลักสูตร ทำให้สามารถบูรณาการความรู้ในระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์กับความรู้ทางคลินิก สถาบันมีทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีอาคารสถานที่และเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มีความพร้อม โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์มีประเภทผู้ป่วยที่มีความหลากหลายและเหมาะสมกับการเรียนรู้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ยังมุ่งเน้นให้เกิดงานวิจัยเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำวิจัยของนักศึกษาแพทย์ สนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีมาตรฐานการศึกษาและการวิจัยในระดับสากล เป็น 1 ใน 100 World Class University

ในด้านการดูแลนักศึกษา คณะได้จัดให้มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษา (Mentoring system) โดย อาจารย์ mentor จะดูแลนักศึกษาในชั้นปีเดียวกัน เป็นกลุ่มย่อย ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ถึงชั้นปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ด้าน 1) Student support อาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทสำคัญในการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่นักศึกษา ทั้งเรื่องการปรับตัวในชีวิตมหาวิทยาลัย การจัดการเวลา การจัดการความเครียดจากการเรียน หรือปัญหาทางด้านจิตใจ 2) Personal growth คือการส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะการสื่อสาร การจัดการตนเอง และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมุ่งเน้นที่การสร้างความสามารถในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพื่อให้นักศึกษามีความพร้อมในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตหลังจบการศึกษา 3) Professional identity formation เป็นอีกบทบาทที่สำคัญของอาจารย์ที่ปรึกษาคือการสนับสนุนการสร้างอัตลักษณ์ทางวิชาชีพ (Professional Identity Formation) ทั้งทักษะด้านวิชาชีพ การพัฒนาค่านิยม ความเชื่อ และทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของตนในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม รวมถึงการกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการพัฒนาตนเองในสายงาน อาจารย์ที่ปรึกษามีบทบาทในการกระตุ้นให้นักศึกษาสำรวจและทบทวนแนวคิดและค่านิยมทางวิชาชีพ รวมทั้งสนับสนุนให้ปฏิบัติตนตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณในวิชาชีพ

นักศึกษาแพทย์เวธินี สืบนุการณ์ ชั้นปีที่ 6 และ นักศึกษาแพทย์เสกสรร ยอดสนิท ชั้นปีที่ 4 ผู้แทนสภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดี กล่าวว่า การประเมินผลแบบไม่มีแต้มประจำช่วยลดความเครียดจากการสอบ และทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้จากตนเอง ทำให้ใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจภาวะของผู้ป่วยได้อย่างลึกซี้งเป็นองค์รวมมากขึ้น สภานักศึกษาแพทย์มีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การประเมินผล และกิจกรรมนอกหลักสูตรมาโดยตลอด นักศึกษาแพทย์มีผลงานระดับชาติและนานาชาติมากมาย และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ ASPIRE-to-Excellence 2022 Award for Student Engagement จาก Association for Medical Education in Europe (AMEE) เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ของการมีส่วนร่วมของนักศึกษาที่เข้มแข็ง และนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีมีความเป็น Change agent ผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในและภายนอกคณะฯ