"หญิงหน่อย"ลุยน้ำท่วมแจกถุงยังชีพให้กำลังใจชาวเชียงใหม่ ขอส่วนกลางเร่งระดมเรือยนต์ รถยกสูง เข้าไปอพยพประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็กติดค้างภายในบ้านเรือนออกมาพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็ว พร้อมเร่งเยียวยาชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.67 ที่ จ.เชียงใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายเบสท์ วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย นายภวฤทธิ์ กาญจนเกตุ ทีมไทยสร้างไทยจ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ โดยประเมินว่าเป็นมหาอุทกภัยใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี หลังน้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง และทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีมา จากการตรวจสอบล่าสุดน้ำปิงยังขยายวงกว้างออกทุกทิศทางจากแม่น้ำปิงตั้งแต่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ไปจนถึงพื้นที่ท้ายน้ำหลายอำเภอ และบางส่วนของ จ.ลำพูนด้วย
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า ระดับน้ำในพื้นที่หลายจุดยังน่าเป็นห่วง ซึ่งตนได้ประสานกับภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ รวมถึง เปิ้ล นาคร ศิลาชัย เพื่อจะได้นำเจ็ตสกี เข้ามารับ ผู้ที่ยังติดค้างอยู่ภายในบ้านเรือน และเรือท้องแบนปกติไม่สามารถฝ่ากระแสน้ำเข้ามารับได้ ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งระดมเรือ รถยกสูง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เพื่อเข้าไปช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในบ้านเรือน ซึ่งมีทั้ง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ยังอยู่ภายใน อีกจำนวนมาก ขอให้เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมสูงตามที่ประชาชนร้องขอความช่วยเหลือผ่านทางตนและพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับพบว่ายังมีประชาชนรอคอยความช่วยเหลืออยู่และ ไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ จึงยังไม่ถูกอพยพออกมาจากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง
คุณหญิงสุดารัตน์ พร้อมทีมไทยสร้างไทย ยังได้เดินลุยน้ำ เข้าไปให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ซึ่งระดับน้ำ ที่ท่วมในย่านเศรษฐกิจ บางจุดท่วมสูงถึงระดับอกของพี่น้องประชาชน โดยทีมไทยสร้างไทยได้มอบอาหารและน้ำดื่มให้ผู้ประสบภัย บริเวณกาดก้อม ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ด้วย
ที่สนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ คุณหญิงสุดารัตน์ นำทีมไทยสร้างไทย ติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะการแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม โดยหน้าพรรคไทยสร้างไทยย้ำว่า ในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย ชาวบ้านยังคงวิตกกังวลและหวาดกลัวกับมวลน้ำ ซึ่งได้พัดพาความเสียหายมาสู่พื้นที่ รัฐที่รับผิดชอบ จะต้องสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้แม่นยำที่สุด ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายให้มากที่สุด ที่สำคัญที่สุด ขอให้ภาครัฐ ได้เร่งรัดการเยียวยา หลังน้ำลดโดยทันที และการเยียวยาจะต้องเหมาะสมสอดคล้องกับความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น จะใช้หลักเกณฑ์เรื่องของเวลาในการท่วมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางพื้นที่ไม่ได้ท่วมขังยาวนาน แต่ด้วยความแรงของมวลน้ำ ก็ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สิน ของพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหายอย่างมาก