พม.ขยายศูนย์พักพิง 16 จว.รองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

2024-10-04 20:34:34

พม.ขยายศูนย์พักพิง 16 จว.รองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

Advertisement

"วราวุธ" เผยขยายศูนย์พักพิงในหน่วยงาน พม. 16 จังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน รองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์ภัยพิบัติ ว่า ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. รายงานการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ในสถานการณ์ภัยพิบัติ ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. - 4  ต.ค.67 พบว่า มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ 38 จังหวัด ( เชียงราย พิษณุโลก อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ตาก ปราจีนบุรี หนองคาย นครพนม บึงกาฬ สุโขทัย แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี ลำปาง หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน น่าน นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ยะลา ระยอง พะเยา พังงา ตรัง สตูล ชุมพร ลำพูน ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุบลราชธานี ) 102 อำเภอ 421 ตำบล 2,114 หมู่บ้าน 55,622 ครัวเรือน โดยมีประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติ 66,342 ครัวเรือน 79,604 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเด็ก 9,107 ราย เยาวชน 7,558 ราย คนพิการ 12,076 ราย ผู้สูงอายุ 39,627 ราย และผู้มีรายได้น้อย 11,236 ราย

นายวราวุธ กล่าวว่า  พม. ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางแล้ว 13,157 ราย โดยช่วยเหลือเป็นเงินสงเคราะห์ต่างๆ 5,337 ครอบครัว ให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ 6,632 ราย ซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย 50 ราย และการกำพร้า 6 ราย อีกทั้งศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. มอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย ด้วยความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชน อาทิ แพ็มเพิสสำหรับผู้สูงอายุ ข้าวกล่อง น้ำดื่ม ยารักษาโรค กายอุปกรณ์สำหรับคนพิการ และเครื่องอุปโภคบริโภคเฉพาะตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ไม้เท้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สุขาเคลื่อนที่ รวมทั้งการตั้งโรงครัว 21 โรงครัว ร่วมกับทาง จ.น่าน แพร่ พะเยา สุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ขณะนี้  พม. ได้เปิดพื้นที่ของหน่วยงานทีม พม.หนึ่งเดียว 16 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวในการรองรับผู้ประสบภัย รวม 46 แห่ง แบ่งเป็น 1) ภาคเหนือ 8 จังหวัด 26 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงราย 2) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จ.เชียงราย 3) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.เชียงราย 4) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เชียงราย 5) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงราย (ริมกก) 6) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงราย (แม่สาย 1) และ 7) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงราย (แม่สาย 2) 2. จ.เชียงใหม่ 8 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงใหม่ (สันผีเสื้อ) 2) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงใหม่ (หนองหอย) 3) บ้านเอื้ออาทร จ.เชียงใหม่ (หนองหอย 2) 4) สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ 5) สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่ 6) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.เชียงใหม่ 7) ศูนย์พักพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน และ 8) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ 3. จ.แม่ฮ่องสอน 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.แม่ฮ่องสอน และ 2) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.แม่ฮ่องสอน 4. จ.ลำพูน 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จ.ลำพูน และ 2) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ลำพูน 5. จังหวัดลำปาง 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ 6.  จ.พะเยา 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพะเยา และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.พะเยา 7. จ.น่าน 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดน่าน และ 2) ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.น่าน และ 8. จ.แพร่ 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.แพร่และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.แพร่

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 20 แห่ง ได้แก่ 1.จ.หนองคาย 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.หนองคาย 2) สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก จ.หนองคาย และ 3) นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย 2. จ.เลย 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.เลย และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.เลย 3. มุกดาหาร 2 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.มุกดาหาร และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.มุกดาหาร 4. จ.บึงกาฬ 2 แห่ง ได้แก่1) บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.บึงกาฬ 5. จ.อุบลราชธานี 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านศรีวนาไล และ 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.อุบลราชธานี 6. จ.นครพนม 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นครพนม 2) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.นครพนม และ3) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จ.นครพนม 7. จ.ขอนแก่น 3 แห่ง ได้แก่ 1) บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ขอนแก่น 2) ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จ.ขอนแก่น และ 3) ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จ.ขอนแก่น และ 8. จ.อุดรธานี 3 แห่ง ได้แก่ 1) นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ 2) นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง และ 3) สถานสงเคราะห์เด็กหญิง จ.อุดรธานี

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนผู้ประสบภัยต้องการความช่วยเหลือ เร่งด่วน ขอให้โทรติดต่อมาที่ สายด่วน พม. โทร. 1300 ของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. เราพร้อมส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเครื่องที่เร็วลงพื้นที่ช่วยเหลือโดยด่วน