ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐาน “ปลาร้า” ระบุต้องทำจากปลาไม่มีพิษ ไม่มีสารตกค้าง ไม่พบสิ่งแปลกปลอม ไร้ตัวอ่อนพยาธิ ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสียทุกชนิด ชี้ขายปลีก-ขายส่ง ต้องติดฉลากบนภาชนะบรรจุ บอกชื่อสินค้า ชนิดปลาที่ใช้ ส่วนประกอบสำคัญ
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร “ปลาร้า” ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงนามโดยนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เห็นสมควรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง ปลาร้า เป็นมาตรฐานทั่วไป ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย จึงออกประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร “ปลาร้า” มาตรฐานเลขที่ มกษ. 7023 - 2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป ดังมีรายละเอียดแนบท้ายประกาศนี้ ทั้งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 9 ก.พ.2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายละเอียดแนบท้ายประกาศ ระบุว่า ปลาร้าต้องทำจากปลาชนิดไม่มีพิษ ไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีคุณภาพเหมาะสม สำหรับการบริโภค โดยทั่วไปทำ จากปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาเบญจพรรณ หรือปลาทะเล เช่น ปลาจวด ปลาไล้กอ หรือปลาปากคม ส่วนเกลือต้องเป็นเกลือที่สะอาด ไม่พบสิ่งแปลกปลอม และรำข้าว รำข้าวคั่ว และข้าวคั่ว ต้องสะอาด ใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็นหืนและไม่มีแมลง เช่น มอด และชิ้นส่วนของแมลง รวมทั้งสิ่งแปลกปลอม เช่น กรวด ทราย ปลาร้าต้องมีปริมาณเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ต้องไม่พบตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ด และตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ และห้ามใช้สีและวัตถุกันเสียทุกชนิด
ส่วนฉลากสำหรับปลาร้าขายปลีก ให้แสดงฉลากบนภาชนะบรรจุทุกหน่วยตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยอย่างน้อย ต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดเป็นภาษาไทยให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน ไม่เป็นเท็จ หรือหลอกลวง ดังต่อไปนี้ ก) ชื่อสินค้าให้ใช้ชื่อ “ปลาร้า” ข) ชนิดปลาที่ใช้ เช่น ปลากระดี่ ปลาสร้อย ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาเบญจพรรณ ค) ส่วนประกอบสำคัญเป็นร้อยละของน้ำหนักโดยประมาณและเรียงจากมากไปน้อย ง) ชนิดของวัตถุเจือปนอาหาร (ถ้ามี) จ) น้ำหนักสุทธิเป็นกรัมหรือกิโลกรัม ฉ) วัน เดือน ปี ที่ผลิต หรือวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ หรือข้อความว่า “ควรบริโภคก่อน (วัน เดือน ปี )” ช) คำแนะนำ ในการเก็บรักษาและการบริโภค เช่น ควรทา ให้สุกก่อนบริโภค ซ) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ และสามารถแสดงเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนได้ ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่วน ฉลากสำหรับปลาร้าขายส่งให้มีข้อความตามข้างต้น โดยอาจแสดงไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือในเอกสารกำกับสินค้า ทั้งนี้ ข้อความ ก) ข) ค) จ) ฉ) และ ซ) ต้องอยู่ที่ภาชนะบรรจุเท่านั้น