นายกฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา

2024-10-02 12:16:50

นายกฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา

Advertisement

นายกฯ ติดตามการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา มอบกรมชลประทาน  ผู้ว่าฯ กทม.  ติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม.  ในช่วงที่ไปประชุมกาตาร์

เมื่อเวลา 10.20 น. วันที่ 2 ต.ค.67  น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจการบริหารจัดการน้ำ โดยมี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้างรักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์น้ำจากพื้นที่ตอนบนในลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ยังคงมีฝนตกอยู่ในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำตอนบนทยอยไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,128 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้นตามลำดับ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้อยู่ในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้ได้มากที่สุด


นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะสร้างผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ ซึ่งได้สั่งการ ให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำ ให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด และประชาสัมพันธ์กให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเชื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณ จ.อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยาทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อเตรียมขนย้ายของต่าง ๆ ไว้ในที่ปลอดภัย รวมถึงฝากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่าง ๆ เพื่อรองรับน้ำ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ กทม. โดยให้ประสานความร่วมมือกับกรมชลประทาน ให้สอดคล้องกันในการดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ อีกทั้ง ขอให้เร่งกำจัดขยะและผักตบชวาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และฝากศึกษาการจัดการน้ำแม่น้ำยม กรณีแก่งเสือเต้นโดยให้อัพเดทข้อมูล นำเรื่องกลับมาศึกษาเพื่อประโยชน์ในระยะยาว และสแตนด์บายรายงานผลตลอด 24 ชม.ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำที่เมืองโดฮารัฐกาตาร์

ทั้งนี้เพจ  Ing Shinawatra  ของนายกฯได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า  ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ดังนี้

การระบายน้ำ กรมชลประทาน

1. มอบอธิบดีกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือกระทบน้อยที่สุด

1.1 ให้กรมชลประทานบริหารจัดการเขื่อนเจ้าพระยาและผันน้ำเข้าฝั่งซ้าย (คลองชัยนาท – ป่าสัก) และฝั่งขวา (ปตร.พลเทพ และปตร.บรมธาตุ) ของเขื่อนเจ้าพระยา ให้มีความเหมาะสม และพิจารณาอิทธิพลการขึ้นลงของน้ำทะเลมาประกอบการระบายน้ำให้สอดคล้องด้วย

1.2ประชาสัมพันธ์กับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในขณะนี้บริเวณจังหวัดอ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ได้รับทราบข้อมูลการปล่อยน้ำล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 วัน เพื่อรีบยกของต่างๆ ได้ทันต่อไป

2.มอบกระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและดูแลให้การช่วยเหลือในลำดับแรกด้วย

3.มอบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี และอธิบดีกรมชลประทาน

3.1 เฝ้าระวังจุดฟันหลอ และเตรียมการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ

3.2 ทำการพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับน้ำหากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

3.3 ตรวจสอบความพร้อมเครื่องสูบน้ำและประตูระบายน้ำให้มีความพร้อมใช้งาน

3.4 เร่งกำจัดขยะ และผักตบชวา ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการสูบน้ำและการระบายน้ำออกจากพื้นที่

4. ตามที่ได้มีการมอบหมายการบริหารจัดการที่เขื่อนเจ้าพระยาและการผันน้ำออกด้านซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้กระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อยที่สุด และเฝ้าระวังบริเวณ อ.บางไทร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยประมาณ 53% ของลำน้ำ และการเตรียมการพร่องน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อรองรับสถานการณ์ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดน้ำท่วมขังแบบปี 2554 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน