"ศุภมาส" เปิดแผนยุทธศาสตร์ผลักดันทักษะ AI (มีคลิป)

2024-09-30 20:39:37

"ศุภมาส" เปิดแผนยุทธศาสตร์ผลักดันทักษะ AI (มีคลิป)

Advertisement

"ศุภมาส"เปิดแผนยุทธศาสตร์ผลักดันทักษะ AI อัพสกิล นศ. ย้ำต้องใช้เป็น สร้างได้ คุมอยู่ ถูกจริยธรรม เชื่อลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสแรงงานไทยสู่เวทีโลก

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 67 ที่โรงแรงอีสติน แกรนด์ พญาไท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมรับมอบนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน Artificial Intelligence (AI) เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนากำลังคนด้าน AI โดยความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษานำ AI ไปใช้ในการเรียนการสอนให้กับนิสิต นักศึกษา และประชาชนทุกช่วงวัย ให้พร้อมรับมือกับการเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตามนโยบาย อว. For AI ภายใต้การนำของ น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมด้วย  ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. พร้อมด้วยบุคลากรแวดวงการศึกษา

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์นี้จะช่วยขับเคลื่อนนโยบาย  อว. for AI ที่ได้ประกาศนโยบายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มุ่งเน้นการใช้ AI ในการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ การใช้ AI ในการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนไทย การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสนับสนุนนวัตกรรม AI เพื่อใช้งานจริง ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย เพื่อก้าวสู่ Education 6.0 คือการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นการศึกษาแบบไร้รอยต่อระหว่าง Offline และ Online นำ AI และ Metaverse มาช่วยในการเรียนการสอน และนำมหาวิทยาลัยของไทยเข้าสู่การเป็น AI University สำหรับด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน AI จะเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในการผลิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัย ให้มีทักษะด้าน AI ที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต ซึ่ง  อว. ให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนอย่างจริงจัง


ส่วนความท้าทายของการนำ AI เข้ามาใช้ในระบบอุดมศึกษา จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งพื้นที่ชนบท และพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงการอัพสกิลต่างๆ หากผ่านการประเมิน และมอบประกาศนียบัตรตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล ที่สำคัญ  อว.ได้รับความร่วมมือจากบริษัทระดับโลก ที่จะยกระดับความสามารถให้นักศึกษาไทย มีมาตรฐานสากลและลดการขาดแรงงาน

สำหรับแผนยุทธศาสตร์นี้ไม่เพียงแค่มุ่งเน้นการสร้างความรู้และความชำนาญด้าน AI ให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี AI ในอนาคตแต่ยังเป็นการวางรากฐานให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำในด้าน AI ของภูมิภาคอาเซียน กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มุ่งมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์พัฒนาทักษะ AI เพื่อพัฒนากำลังคน ในที่ประชุมอธิการบดี 4 แห่ง ได้แก่ อธิการบดีแห่งประเทศไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย จะร่วมกันขับเคลื่อนผ่านโครงการ “AI University” ที่มีเป้าหมายให้บัณฑิต ร้อยละ 90 มีความรู้พื้นฐานด้าน AI หลังจบการศึกษา และร้อยละ 50 มีทักษะในการใช้ AI จากการลงมือปฏิบัติภายในปีที่ 2 ของการศึกษา นอกจากนี้ นักศึกษาทุกคนจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ AI และจริยธรรม ในการใช้ AI โดยมีแผนดำเนินการเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งโครงการนำร่องในมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการฝึกอบรม และเปิดคอร์สออนไลน์ Generative AI โดยตั้งเป้าผู้เรียน 10,000 คน ใน 3 เดือน หรือ 100,000 คนใน 6 เดือน

“AI จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และช่วยทุ่มเท พร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ หวังว่าเราจะร่วมมือกันเผยคนไทยใช้ AI ได้และสร้าง AI เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ มีจริยธรรม เพื่อทุ่นแรง ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ"น.ส.ศุภมาส กล่าว

หลังจากนั้น น.ส.ศุภมาส ให้สัมภาษณ์ถึงการใช้ AI ในสถานศึกษาว่าขณะนี้เริ่มต้นหรือยัง ว่า ได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อย อธิการบดีเผยว่าได้ถ่ายทอดทักษะ AI ให้กับนักศึกษา ที่ขณะนี้ไม่เพียงพอกับตลาดที่ต้องการแรงงาน ดังนั้น AI University จะทำให้ประเทศไทยไปถึงจุดสำเร็จ AI ไม่ใช่วิชาแต่เป็นทักษะและเป็นชีวิต เราต้องการให้เด็กที่จบทุกคนใช้เป็น สร้างเป็น แก้ไขปัญหาได้ รวมทั้งแข่งกับมหาลัยอื่นหรือประเทศอื่น “ขอให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง ใช้ด้วยความเข้าใจ ต้องมีจริยธรรม ไม่ใช้ความรู้ในทางที่ผิด และสร้างสรรค์

เมื่อถามว่า มหาวิทยาลัยเริ่มใช้ระบบ AI แล้วหรือยัง รมว.อว. เผยว่า ทุกมหาวิทยาลัยเริ่มใช้แล้ว แต่มีความหลากหลายแตกต่างกันไป มีทั้งวิชาหลัก-วิชาเลือก สามารถใช้เป็นกุศโลบายใช้ AI เป็นเครื่องมือในการทำรายงาน ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยมีรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะต้องมีแพลตฟอร์มกลางให้เข้าถึงกันได้ จะลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสการเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งนักศึกษาสามารถมีติวเตอร์ส่วนตัวหรือจะมีบุคคลที่ตัวเองเห็นเป็นต้นแบบสามารถมาเป็นอาจารย์ในการสอนได้ ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน อว. อยากให้นักศึกษาสนุกกับครูที่สอน

น.ส.ศุภมาส กล่าวถึงแผนแม่บทของ อว. ในการนำ AI University มาใช้ว่า ได้ตั้งเป้าเบื้องต้น 3 ปี ผลิตนักศึกษา 30,000 คน แบ่งเป็นสามระดับ คือ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สร้าง และผู้ใช้งานเบื้องต้น ดังนั้นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกคนชั้นปีที่ 1 จะต้องใช้เป็น สร้างได้ เราไม่ใช่ผู้รับการถ่ายทอดแต่เราจะนำมาประยุกต์ใช้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด “ทุกหย่อมหญ้าของการศึกษาไทย ต้องใช้ AI บังคับให้ได้อย่าให้ AI บังคับเรา ทุกการทำงานใช้ AI เป็นเครื่องทุ่นแรง ช่วยให้การศึกษา และหลักสูตรต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมีศักยภาพมากขึ้น พัฒนาคนในชาติที่จะสามารถยกระดับและเข้าถึงได้