"สมศักดิ์" ถกบอร์ด สปสช. นัดพิเศษ เคลียร์ปมงบบัตรทองหลัง ครม.อนุมัติงบกลางให้ 5,924 ล้าน ขอประชาชนอย่าตกใจ ยืนยันไร้ปัญหาทางเงิน พร้อมมอบการบ้าน สปสช.รับข้อห่วงใย สภาพัฒน์กรณีจ่ายเงินรายหัวเงินซ้ำซ้อน ประกาศดันวาระ NCDs หวังลดภาระค่ารักษาพยาบาล
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 (3) 2567 วาระพิเศษ “การปิดงบประมาณรายจ่าย ปีงบประมาณ 2567 และการใช้งบกลางคงเหลือ” ว่า ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ 2567 จำนวน 5,924.31 ล้านบาท ที่ประชุมบอร์ด สปสช. เห็นชอบให้นำมาจ่ายชดเชยสำหรับค่าบริการ ตามนโยบายรัฐบาล 30 บาทรักษาทุกที่ ค่าบริการกรณีที่จำเป็นในการเข้ารับบริการยังหน่วยบริการอื่นนอกเครือข่ายกรณีเหตุสมควร กรณีรายการค่าบริการที่งบประมาณไม่เพียงพอ และในกรณีที่มีงบประมาณคงเหลือให้นำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมกับค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อหน่วย (Adj.RW) ทั้งนี้หากยังมีงบประมาณคงเหลือก็ให้ยกยอดไปในปีถัดไป ยกเว้นในส่วนของงบกลางฯ ให้เบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.67
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนงบปกติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ปิดงบประมาณจากข้อมูลการเบิกจ่ายที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 ก.ย.2567 สำหรับข้อมูลการส่งเบิกจ่ายหลังจากวันที่ 15 กันยายน 2567 ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป ส่วนค่าบริการผู้ป่วยนอกพื้นที่ กทม. ให้กันเงินไว้ภายใต้วงเงิน Capitation ตามประชากรที่ลงทะเบียน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 ไว้จ่ายค่าใช้จ่ายค่าบริการที่ค้างจ่ายของปีงบประมาณ 2567 นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ปิดงบประมาณรายจ่ายจากข้อมูลที่ส่งเบิกภายในวันที่ 15 ก.ย.ของทุกปี เพื่อให้การดำเนินการโอนเงินให้หน่วยบริการมีประสิทธิภาพและเสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.ของทุกปี ส่วนข้อมูลเบิกจ่ายหลังวันที่ 15 ก.ย. ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณในปีถัดไป รวมถึงการนำงบประมาณคงเหลือจากการเบิกจ่ายให้นำไปรวมกับงบประมาณในปีถัดไป
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ยังให้ สปสช. รับข้อสังเกตของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่อาจเกิดความซ้ำซ้อนของการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ กรณีที่ผู้มีสิทธิไปรับบริการที่หน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ หรือหน่วยบริการสาธารณสุขพื้นฐานใกล้บ้าน ขณะที่หน่วยบริการเดิมที่ได้ลงทะเบียนไว้ไม่ต้องจัดบริการแก่ผู้มีสิทธิรายนั้นแต่ยังได้รับงบประมาณในการดำเนินงานตามค่าเหมาจ่ายรายหัว จึงควรพิจารณาหาแนวทาง ในการจัดสรรงบประมาณรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการจัดบริการร่วมกันระหว่างหน่วยบริการที่ประชาชนได้ลงทะเบียน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยบริการอื่นภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานในระยะต่อไป
นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การประชุมหารือการใช้งบกลาง 5,924 ล้านบาท ที่ครม.อนุมัติให้ และมีข้อห่วงใยของสภาพัฒน์ฯ ได้พูดถึงเงินผู้ป่วยนอก หลังจากถูกส่งตัว หรือย้ายไปใช้โรงพยาบาลใหญ่ขึ้น มีการจ่ายซ้ำซ้อน ต้องระมัดระวัง ส่วนปัญหาที่บอกว่าคลีนิคต่างๆ ขาดทุนได้เงินค่าบริการน้อยอาจจะ 500 บาท แต่ พอส่งตัวโรงพยาบาลใหญ่ได้ 1,500 บาท เขาก็อยากปรับขึ้น ก็มีการถกเถียงกัน และจะหารือกันให้ตกผลึก เพราะต้นทุนการรักษาโรคของโรงพยาบาลใหญ่แตกต่างเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ มาตรฐานการรักษา
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนค่ารักษาผู้ป่วยในอย่างต่ำ 8,154 บาทต่อหน่วย แต่ไม่เกิน 8,350 บาทต่อหน่วย ยืนยันไม่ใช่ตัวเลข 7,000 บาทแน่นอน เป็นเพียงตัวเลขประมาณการ ส่วนงบประมาณที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเพิ่มในส่วนผู้ป่วยบริการเฉพาะ เช่น มะเร็ง ฟอกไต หลอดเลือด โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค คือรักษาโรคปฐมภูมิ แต่มะเร็งไม่ไช่ ยืนยันไม่ได้ปัญหาเรื่องเงิน ขอประชาชนอย่าตกใจ เพียงแต่เราให้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยบริการเฉพาะ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มการฉีดวัคซีนมะเร็งจาก 2 สายพันธุ์ เป็น 9 สายพันธุ์
เมื่อถามว่าการจัดสรรงบฯปีถัดไปต้องเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าไม่หยุดยั้งให้มีการเจ็บป่วยน้อยลง ต้องเพิ่มงบประมาณแน่นอน ซึ่งจะเหนื่อยกับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่ง เราต้องเกรงใจรัฐบาลด้วยในการของบประมาณ เราต้องบริหารจัดการงบให้เพียงพอ และปีงบประมาณใหม่จะทำโครงการ NCDs โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแถลงผลงานของกระทรวงวันที่ 26 ก.ย.เป็นเรื่องปกติเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ตนจะบอกว่าทำอะไรไปบ้าง และปีถัดไปจะทำอะไรบ้าง