ทลายโกดังผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน

2024-09-17 11:08:36

ทลายโกดังผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน

Advertisement

ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. ทลายโกดังผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน  ตรวจยึดน้ำยา อุปกรณ์กว่า 7,300 ชิ้น มูลค่า  2.5 ล้าน

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ( บก.ปคบ. )  และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังจัดเก็บกระจายผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้าจากจีน ตรวจยึดยากันยุงพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ จำนวนกว่า 7,300 ชิ้น พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เป็นความผิด 45 รายการ จำนวน 32,627 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,500,000 บาท

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กันยุงพร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนควบ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่ อย.ได้ตรวจเฝ้าระวังตรวจพบสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethriods) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ผลิต และขอขึ้นทะเบียน) ซึ่ง อย. ไม่เคยอนุญาตให้นำเข้า ผลิต หรือขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีสารดังกล่าว จึงเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ รวมถึงอัตราการใช้ที่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้สืบสวน พบว่า ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ขายมักโฆษณาข้อความระบุใช้ได้กับสตรีมีครรภ์และเด็กอ่อน ไม่มีผลหรือเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด จึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป โดยไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีวัตถุอันตรายที่เป็นส่วนผสม ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.ย.67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงร่วมกับ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย) นำหมายค้นของศาล เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้า และจุดกระจายสินค้าในพื้นที่ เขตพระโขนง เขตบางแค และเขตบางขุนเทียน จำนวน 3 จุด  ตรวจยึด ผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน  ชนิดขวดยังไม่บรรจุกล่อง ฉลากภาษาจีน  หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้ประกอบผลิตภัณฑ์กันยุงด้วยไฟฟ้า กล่องบรรจุผลิตภัณฑ์จุดกันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ฉลากภาษาจีน   

จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ทั้ง 3 จุด มีการนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีน จากนั้นนำมาเก็บไว้ที่สถานที่จัดเก็บจุดต่างๆ เพื่อรอคำสั่งซื้อ และแพ็คส่งให้ลูกค้าในประเทศไทย โดยมีการบริหารจัดการในลักษณะ "เก็บ แพ็ค ส่ง" หรือ Fulfillment โดยนำเข้ามาในราคาขวดละ 5-8 บาท แล้วนำออกขายในราคาขวดละ 10 - 20 บาท ผลการตรวจค้นทั้ง 3 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่มีเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์ จำนวน 5,077 ขวด หัวปลั๊กไฟฟ้าใช้กับน้ำยากันยุง จำนวน 2,295 ชิ้น อนึ่ง ในส่วนของกลางที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. จะนำส่ง อย. เพื่อนำส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจหาสารเคมีอันตรายที่เป็นส่วนผสม โดยหากพบว่ามีสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) จริง ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ 2556 ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.2556 จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ขายผลิตภัณฑ์กันยุงใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า มีความผิดฐาน  พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558

จากการปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน  ผลตรวจวิเคราะห์พบสาร เมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) และ ไดมีฟลูทริน (Dimefluthrin) ซึ่งเป็นสารกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์กันยุงที่ใช้กับเครื่องไฟฟ้า ที่ตรวจพบในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยและไม่ระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตราย โดยสารดังกล่าว เป็นสารที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. จึงเป็นสารที่ยังไม่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ รวมถึงอัตราการใช้ที่เหมาะสม จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ นอกจากนี้ ยังพบว่าสารดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันด้านความปลอดภัย โดยไม่สามารถสืบค้นข้อมูลด้านความปลอดภัยต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมของสารดังกล่าวได้ และพบว่ายังไม่เคยมีการอนุมัติให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป และสารเมเพอร์ฟลูทริน (Meperfluthrin) ไม่อยู่ในรายการสารที่แนะนำให้ใช้โดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

จึงขอเตือนผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเป็นภาษาไทยและระบุเลขทะเบียนวัตถุอันตรายในกรอบเครื่องหมาย  อย. วอส. สำหรับกรณีวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยต้องมีฉลากภาษาไทย ที่ต้องแสดงชื่อการค้า ชื่อและปริมาณสารสำคัญวิธีการใช้ คำเตือน ข้อควรระวัง วันเดือนปีที่ผลิต รุ่นการผลิตที่ชัดเจน หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการ กล่าวอ้างประสิทธิภาพในเชิงโอ้อวดเกินจริง หากผู้บริโภคพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThaiหรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงทั้งแบบจุดไฟและแบบที่ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือยาฆ่าแมลงชนิดฉีดพ่นเพื่อใช้ในบ้านที่ไม่มีเลขผลิตภัณฑ์วัตถุอันตราย ที่ไม่มีเครื่องหมาย วอส. โดยก่อนซื้อจะต้องตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์มีภาษาไทยกำกับ ก่อน เนื่องจากผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวมีสารเคมีที่เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลง หรือไล่แมลง ออกฤทธิ์โดยตรงต่อคนและสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน การซื้อสินค้าต้องซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ราคาเป็นธรรม และไม่ถูกกว่าราคาจำหน่ายท้องตลาดจนเกินไป และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายยาจุดกันยุง หรือยาฆ่าแมลงชนิดฉีดพ่น ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา