นิวยอร์ก, 30 ส.ค. (ซินหัว) — ผลการวิจัยโดยสถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพสากล ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์ในออสเตรเลีย เผยว่าผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ ราวร้อยละ 60 ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโภชนาการที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
กลุ่มนักวิจัยได้วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหารทารก 651 รายการที่ซื้อมาจากสาขาร้านของชำรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2023 และประเมินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ตามเกณฑ์มาตรฐานด้านโภชนาการและการโฆษณาที่สำนักงานระดับภูมิภาคยุโรปขององค์การฯ กำหนดขึ้นในปี 2022
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารนูเทรียนท์ส (Nutrients) เมื่อสัปดาห์ก่อน พบว่าผลิตภัณฑ์ราวร้อยละ 70 มีปริมาณโปรตีนไม่เพียงพอตามมาตรฐานโภชนาการขององค์การฯ และร้อยละ 44 มีปริมาณน้ำตาลรวมเกินเกณฑ์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์หนึ่งในสี่ไม่เป็นไปข้อกำหนดเรื่องแคลอรี และหนึ่งในห้ามีโซเดียมสูงเกินระดับที่แนะนำ
เมื่อวันพุธ (28 ส.ค.) วอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) รายงานถึงผลการศึกษาดังกล่าวว่าการขาดสารอาหารและปริมาณอาหารแปรรูปสูงที่เพิ่มขึ้นได้ตอกย้ำถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นต่อประชากรเด็กในสหรัฐฯ
อลิซาเบธ ดันฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานโภชนาการของมหาวิทยาลัยนอร์ธ คาโรไลนา กล่าวว่าผู้คนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความชอบด้านอาหาร แต่จะมีพฤติกรรมที่ปรับไปตามสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ ดังนั้นเมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาจะเลือกอาหารโดยได้อิทธิพลอย่างมากจากสิ่งที่เคยกินมา ทว่าอาหารสำหรับเด็กหลายชนิดที่จำหน่ายในสหรัฐฯ กลับมีน้ำตาล ไขมัน สารกันบูดสูง และขาดสารอาหารที่จำเป็น