CDC ชี้ชาวอเมริกัน "อ้วนขึ้น" ระบบดูแลสุขภาพแบกภาระเพิ่ม

2024-08-29 12:05:14

CDC ชี้ชาวอเมริกัน "อ้วนขึ้น" ระบบดูแลสุขภาพแบกภาระเพิ่ม

Advertisement

นิวยอร์ก, 28 ส.ค. (ซินหัว) — ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่าผู้คนในสหรัฐฯ อ้วนขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยผู้ใหญ่ชาวอเมริกันในปี 1960 ราวร้อยละ 31.5 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ขณะการเฝ้าติดตามล่าสุดพบว่าผู้ใหญ่ชาวอเมริกันในปี 2017 ราวร้อยละ 30.3 มีน้ำหนักตัวมากเกินไป

ทว่าปี 1960 มีผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วนราวร้อยละ 13.4 และเป็นโรคอ้วนรุนแรงราวร้อยละ 0.9 แต่ปี 2017 มีผู้ใหญ่เป็นโรคอ้วนราวร้อยละ 42.8 และเป็นโรคอ้วนรุนแรงราวร้อยละ 9.6 ส่วนอัตราการเป็นโรคอ้วนในเด็กอยู่ที่ราวร้อยละ 20 ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานมากกว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวปกติ รวมถึงมีแนวโน้มจะเป็นโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ด้วย

ศูนย์ฯ ประเมินว่าโรคอ้วนและผลพวงจากโรคนี้ส่งผลให้ระบบดูแลสุขภาพของสหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณเกือบ 1.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.88 ล้านล้านบาท) ต่อปี

น้ำหนักตัวโดยปกติจะวัดด้วยดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอ (BMI) ซึ่งเทียบเคียงน้ำหนักกับส่วนสูง โดยศูนย์ฯ ระบุว่าน้ำหนักตัวที่ “ดีต่อสุขภาพ” ของผู้มีส่วนสูง 5 ฟุต 10 นิ้ว (ราว 177.8 เซนติเมตร) อยู่ที่ราว 128-173 ปอนด์ (ราว 58-78 กิโลกรัม) ซึ่งแปลงเป็นดัชนีมวลกายที่ระหว่าง 18.4-24.9

สำหรับผู้มีส่วนสูงข้างต้นพร้อมน้ำหนักตัว 173-208 ปอนด์ (ราว 78-94 กิโลกรัม) จัดเป็นผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป และผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 208 ปอนด์ หรือดัชนีมวลกาย 30 หรือสูงกว่าจัดเป็นผู้ป่วยโรคอ้วน ขณะผู้มีดัชนีมวลกาย 40 หรือสูงกว่า หรือน้ำหนักตัว 278 ปอนด์ (ราว 126 กิโลกรัม) จัดเป็นผู้ป่วยโรคอ้วนรุนแรง