ผู้ว่าฯกทม.เผย 5 มาตรการป้องกันน้ำให้ชาวกรุง เสริมแนวเขื่อน ปิดจุดเสี่ยงกว่า 60 จุด เตรียมสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง เปิดทางน้ำไหล 1,300 คลอง ล้างท่อ 4,300 กม. เตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือเฝ้าระวัง 24 ชม.
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 67 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำฝนของกรุงเทพมหานคร พร้อมลงเรือตรวจสอบความพร้อมแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จาก ท่าเรือส่วนการท่องเที่ยว ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร ถึงวัดสร้อยทอง เขตบางซื่อ โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลงข่าวและลงพื้นที่
นายชัชชาติ กล่าวว่า การแถลงและดูการเตรียมพร้อมรับมือน้ำเหนือของ กทม. ในวันนี้เนื่องจากมีฝนตกหนักทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดน่านและมวลน้ำไหลลงมาทางแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน แต่เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนปี 54 เพราะ 1. น้ำในเขื่อนยังไม่เต็ม โดยเขื่อนภูมิพลประมาณ 50% เขื่อนสิริกิติ์ประมาณ 70% ยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ซึ่งปี 54 ที่เกิดน้ำท่วมหนัก เขื่อนล้นทั้งสองเขื่อน ต้องปล่อยน้ำ เพราะฉะนั้น เขื่อนที่เป็นด่านแรกยังชะลอน้ำได้ 2. น้ำที่ไหลลงมาไม่ได้เยอะมาก เช่น ที่สถานีบางไทร ด่านที่ต้องเฝ้าระวังของ กทม. ขณะนี้อัตราการระบายน้ำประมาณ 1,000 ลบ.ม./วินาที โดยสามารถรับได้ถึง 3,000 ลบ.ม./วินาที แม้จะมีมวลน้ำเหนือมารวมเชื่อว่าไม่น่าจะถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที และ 3. แนวกั้นน้ำที่เราได้ทำไว้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก จุดที่เคยเป็นฟันหลอ เช่น บริเวณวังหลัง ฝั่งธน พระนคร สะพานปลา ถนนเจริญกรุง บางพลัด กทม. ได้อุดฟันหลอไปเยอะแล้ว ซึ่งจุดที่เป็นฟันหลอใหญ่ประมาณ 32 จุด ทำไปแล้ว 17 จุด และรวมทั้งหมด 120 จุด ทำแล้วเสร็จรวม 64 จุด ส่วนที่เหลือได้เตรียมกระสอบทรายไว้อุดแล้วประมาณ 1,500,000 ใบ เป็นของสำนักการระบายน้ำ 250,000 และของสำนักงานเขตกว่า 1 ล้านใบ
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ภาพรวมสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ประมาทไม่ได้ เพราะผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อนคือบ้านเรือนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ 16 ชุมชน ที่เป็นบ้านรุกล้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งป้องกันได้ยาก กรณีที่ต้องระวังในอนาคตจากน้ำที่มีผลกับกรุงเทพมหานครซึ่งมี 4 ส่วน คือ น้ำเหนือ น้ำหนุนจากทะเล น้ำฝน และน้ำท่า ที่กังวลคือน้ำฝน เพราะสภาพอากาศโลกเปลี่ยน หากตกใน กทม. ปริมาณมากอาจต้องใช้เวลาในการระบาย ซึ่ง กทม. ได้เตรียมรับมือไว้แล้ว ทั้งการลอกคูคลองซึ่งทำทั้งปีไม่ได้เพิ่งทำ โดยคลองหลักลอกไปแล้ว 200 กม. การเปิดทางระบายน้ำคูคลองทำไปแล้ว 1,300 กม. ลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,300 กม. ทำให้ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีฝนตกหนัก ถนนหลักก็ใช้เวลาแห้งหมดไม่เกิน 3 ชม. การรับมือสถานการณ์น้ำได้ดี เป็นผลจากการที่เราดูแลคูคลองต่อเนื่องตลอดมา รวมถึงระบบบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนอย่าประมาท แต่เชื่อว่า กทม. เตรียมตัวรับมือได้อย่างเต็มที่เพี่อดูแลพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้วาง 5 มาตรการ รับมือน้ำให้กับชาวกรุงเทพมหานคร คือ 1. ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ พร้อมตรวจสอบความเรียบร้อยและให้การช่วยเหลือประชาชน 2. ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม 3. การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝน ประกอบด้วย 1. ลดระดับน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ 2. เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ 3. เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ โดยปัจจุบัน พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้