วิวัฒนาการ "ทางรถไฟเคนยา" ในรอบศตวรรษ:เรื่องราวแห่งการตื่นรู้และการพัฒนา

2024-08-16 15:05:02

วิวัฒนาการ "ทางรถไฟเคนยา" ในรอบศตวรรษ:เรื่องราวแห่งการตื่นรู้และการพัฒนา

Advertisement

ไนโรบี, 14 ส.ค. (ซินหัว) -- "การที่ประเทศหนึ่งจะสร้างทางรถไฟนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การที่ทางรถไฟนำพาให้เกิดประเทศหนึ่งขึ้นมานั้นเป็นเรื่องแปลก" เซอร์ ชาร์ลส์ อีเลียต กรรมาธิการอาณานิคมแอฟริกาตะวันออกแห่งสหราชอาณาจักร (British East Africa) ในเวลานั้นกล่าวในปี 1903

อีเลียต ผู้ซึ่งเว็บไซต์สารานุกรมบริแทนนิการะบุว่าเป็นผู้ริเริ่มนโยบายคนผิวขาวสูงส่งกว่าในอาณานิคมแอฟริกาตะวันออกแห่งสหราชอาณาจักร (เคนยาในปัจจุบัน) กล่าวอ้างถึงทางรถไฟรางกว้างหนึ่งเมตรที่ก่อสร้างโดยเหล่านักล่าอาณานิคมชาวสหราชอาณาจักรในแอฟริกาตะวันออกระหว่างปี 1896-1901

ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคมของอารยธรรมตะวันตก เป็นเส้นทางที่คนผิวขาวใช้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในทวีปแอฟริกาเพื่อแสวงหาการผจญภัยและการล่าอาณานิคม รวมถึงเป็นสักขีพยานในกระบวนการตื่นรู้และต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อเอกราชของเคนยา

การแบ่งแยกแอฟริกาโดยชาวยุโรป

ทางรถไฟไนโรบี ซึ่งถูกก่อสร้างขึ้นระหว่างปี 1896-1901 มีจุดเริ่มต้นที่เมืองท่ามอมบาซาบนชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และทอดยาวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงท่าเรือฟลอเรนซ์ (เมืองคิซูมูในปัจจุบัน) บนชายฝั่งทะเลสาบวิกตอเรีย

รัฐบาลสหราชอาณาจักรก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เพื่อควบคุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำไนล์ทั้งหมด แม้เป็นโครงการที่รัฐสภาและสื่อของสหราชอาณาจักรไม่ชอบใจมากเพราะใช้เงินทุนสูงราว 5 ล้านปอนด์ (ราว 225 ล้านบาท) โดยเฮนรี ลาบูเชร์ นักการเมืองสหราชอาณาจักร เคยเขียนบทกวีล้อเลียนว่าเป็น "ทางรถไฟสายคนบ้า"

อย่างไรก็ดี สำหรับนักล่าอาณานิคมแล้ว ทางรถไฟสายนี้มีความคุ้มค่า โดยการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงเป็นก้าวหนึ่งในการแบ่งแยกแอฟริกา แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบอาณานิคมแบบจักรวรรดินิยมอีกด้วย

"งูเหล็ก" เปื้อนเลือด

ทางรถไฟสายไนโรบีในสายตาชนเผ่าท้องถิ่นเปรียบเสมือน "งูเหล็ก" ที่ข้ามพาดดินแดนของพวกเขาและกลายเป็นลางร้ายสร้างปัญหาความวุ่นวาย โดยการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ที่ยาว 931 กิโลเมตร ใช้แต่แรงงานมนุษย์และเครื่องมือธรรมดาเท่านั้น ขณะวัสดุก่อสร้างต้องขนส่งมาจากที่อื่น

พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไนโรบีระบุว่ามีแรงงานสังเวยชีวิตแก่ทางรถไฟสายนี้ 2,493 ราย หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิต 4 รายต่อรางรถไฟยาวหนึ่งไมล์ ขณะกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์ในท้องถิ่น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์มาไซ ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการขยายตัวของการล่าอาณานิคม การต่อต้านของพวกเขาถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

ลอตเต ฮิวจ์ส นักเขียนชาวสหราชอาณาจักร เจ้าของหนังสือ "การเคลื่อนย้ายชาวมาไซ : โชคร้ายของชาวเมืองขึ้น" ระบุว่าชาวมาไซจำนวนมากถูกบังคับอพยพย้ายและถูกปล้นเอาส่วนที่ดีที่สุดของดินแดน ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกันที่กลุ่มชาติพันธุ์คิคุยุในภูมิภาคนี้ต้องประสบพบเจอ

การเคลื่อนไหวต่อต้านอาณานิคม

ช่วงทศวรรษ 1930-1940 กระแสต่อต้านปะทุขึ้นในหมู่ชุมชนท้องถิ่นที่ถูกยึดครองที่ดิน ความไม่พอใจของพวกเขานำสู่การเคลื่อนไหวของผู้รักชาติชาวเคนยาหลายหลุ่ม ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเมาเมา (Mau Mau movement) ที่ประกอบด้วยชาวคิคุยุเป็นหลัก ซึ่งรวมตัวกันภายใต้สโลแกน "ดินแดนและเสรีภาพ" และได้รับการสนับสนุนจากชุมชนท้องถิ่น

เหล่าผู้รักชาติใช้ทางรถไฟสายไนโรบีเดินทางจากสุดขอบหนึ่งไปยังอีกสุดขอบหนึ่งของเคนยาเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องเอกราชของเคนยา ทั้งกล่าวกันว่าประชาชนใช้ทางรถไฟสายไนโรบีในการขนส่งอาวุธแก่ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชด้วย

เดือนตุลาคม 1952 รัฐบาลอาณานิคมของสหราชอาณาจักรประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องด้วยการก่อกบฏของกลุ่มเมาเมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกดขี่นองเลือด ต่อมาปี 1956 มีการจับกุมเดดาน คิมาธี ผู้นำก่อการกบฏ ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ของกลุ่มเมาเมา แต่การก่อกบฏยังคงมีอยู่จนถึงต้นทศวรรษ 1960

เว็บไซต์สารานุกรมบริแทนนิการะบุว่ามีกบฏถูกสังหารในการสู้รบมากกว่า 11,000 ราย เมื่อนับถึงสิ้นปี 1956

เคนยาเป็นอิสระจากการปกครองแบบอาณานิคมอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 12 ธ.ค. 1963 และคลื่นแห่งการปลดปล่อยอาณานิคมแผ่กระจายทั่วแอฟริกาในช่วงทศวรรษ 1950-1960 นำสู่การประกาศเอกราชของประเทศในแอฟริการาว 30 แห่ง

จากทางรถไฟสายคนบ้าสู่ "มาดารากา เอ็กซ์เพรส"

ทางรถไฟรางมาตรฐาน (SGR) สายมอมบาซา-ไนโรบี หรือ "มาดารากา เอ็กซ์เพรส" (Madaraka Express) ซึ่งก่อสร้างโดยจีนและวิ่งขนานกับทางรถไฟสายเก่า กลายเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากผู้มาเยือน โดยทางรถไฟรางมาตรฐานสายนี้เปิดทำการวันที่ 31 พ.ค. 2017 หนึ่งวันก่อนวันมาดารากา ซึ่งเป็นวันรำลึกถึงการปกครองตนเองภายในของเคนยาในวันที่ 1 มิ.ย. 1963

มาดารากา เอ็กซ์เพรส ช่วยลดเวลาเดินทางและต้นทุนการบริการขนส่งสินค้าอย่างมาก กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ทั้งยังช่วยกระตุ้นการค้า เศรษฐกิจ และส่งเสริมเมืองเล็กๆ ตามแนวทางรถไฟ รวมถึงช่วยเคนยาบูรณาการตัวเองเข้ากับประเทศแอฟริกาตะวันออกแห่งอื่นๆ

ทางรถไฟสายใหม่นี้ดำเนินงานอย่างราบรื่นต่อเนื่องกว่า 2,300 วันแล้ว ขนส่งผู้โดยสารหลายล้านคนและสินค้าหลายล้านตัน มีส่วนส่งเสริมการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของเคนยาอย่างมาก และเป็นตัวอย่างอันดีของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางระหว่างจีนกับเคนยา

จากทางรถไฟสายคนบ้าสู่ "มาดารากา เอ็กซ์เพรส" ในวันนี้ เคนยากำลังก้าวสู่อนาคตอันสดใสด้วยทางรถไฟสายใหม่ และค่อยๆ ปิดฉากอดีตของการเป็นอาณานิคมที่มีทางรถไฟสายเก่าเป็นตัวแทน


(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้ฝึกสอนชาวจีน (ขวา) และผู้ฝึกงานชาวเคนยาเดินผ่านตู้รถไฟบนทางรถไฟรางมาตรฐานสายมอมบาซา-ไนโรบี ในกรุงไนโรบีของเคนยา วันที่ 23 พ.ค. 2023)


(แฟ้มภาพซินหัว : ต้นแบบหัวรถจักรที่พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไนโรบีในกรุงไนโรบีของเคนยา วันที่ 27 พ.ย. 2023)


(แฟ้มภาพซินหัว : คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไนโรบีในกรุงไนโรบีของเคนยา วันที่ 27 พ.ย. 2023)


(แฟ้มภาพซินหัว : หนังสือ "ลาจากแอฟริกา" (Out of Africa) ฉบับแปลภาษาต่างๆ ในตู้หนังสือของพิพิธภัณฑ์คาเรน บลิเซน ในกรุงไนโรบีของเคนยา วันที่ 19 เม.ย. 2022)