ดูแลฟันแต่ละช่วงวัย
สุขภาพฟันที่ดีไม่เพียงทำให้เรารู้สึกมั่นใจเวลายิ้มเท่านั้น แต่ยังทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย เพราะฟันที่แข็งแรงทำให้เรารับประทานอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยและยังได้รับโภชนาการที่ดีจากอาหารเหล่านั้นด้วยการดูแลฟันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก
สุขภาพฟันสำคัญอย่างไร
ฟัน เป็นอวัยวะที่สำคัญในช่องปากฟันมีหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็กลงก่อนเข้าสู่ระบบย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารได้ครบถ้วนตามความต้องการ ช่วยในเรื่องการออกเสียงพูดได้ชัดเจนและยังทำให้รอยยิ้มสวยงามรวมทั้งรักษาโครงสร้างความสูงของใบหน้าให้สมดุล
สุขภาพฟันที่ดีเป็นอย่างไร
สุขภาพฟันที่ดี คือ ฟันไม่มีรอยผุฟันแข็งแรงไม่โยกตัวฟันสะอาดปราศจากคราบจุลินทรีย์เกาะที่ผิวฟันนอกจากสุขภาพฟันที่ดีแล้ว ยังควรมีเหงือกที่ดีด้วย ลักษณะเหงือกที่ดีควรมีสีชมพู ไม่มีอาการบวมแดง ไม่เจ็บปวดหรือเสียวฟัน รวมถึงไม่มีเลือดออกเวลาแปรงฟันด้วย
การดูแลฟันในแต่ละช่วงวัย
วัยเด็ก เด็กแรกเกิดที่ยังไม่มีฟันขึ้น แนะนำทำความสะอาดช่องปากด้วยการใช้ผ้าสะอาดเช็ดทำความสะอาดที่บริเวณสันเหงือกและกระพุ้งแก้ม เมื่ออายุ 6 เดือนจะมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น สามารถทำความสะอาดโดยใช้แปรงสีฟันร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเลือกใช้แปรงสีฟันและปริมาณยาสีฟันที่เหมาะสมตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และแนะนำให้เลิกขวดนมได้ตั้งแต่อายุ 1.5 ปี จะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ เด็กจะมีฟันแท้ซี่แรกขึ้นตอนอายุ 6 ปี ช่วงอายุตั้งแต่ 6-12 ปี จะเป็นระยะฟันผสม การดูแลสุขภาพฟันในระยะนี้จะเน้นการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ลด หลีกเลี่ยงอาหารหวานเหนียวติดฟัน เพื่อป้องกันฟันผุ และพาไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
วัยรุ่น ในช่วงวัยรุ่น ชุดฟันจะเป็นชุดฟันแท้ทั้งหมดวัยรุ่นจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ชอบรับประทานขนม อาหารหวานบ่อย รวมถึงมีกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น จึงอาจละเลยการดูแลสุขภาพช่องปาก นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้มีโอกาสเกิดโรคเหงือกอักเสบได้มากขึ้น จึงแนะนำให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับใช้ไหมขัดฟันเพื่อป้องกันฟันผุและลดการเกิดคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่เป็นสาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน ฟันคุดเป็นอีกอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงอายุประมาณ 18 ปี ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ในช่องปาก เนื่องจากมีพื้นที่ของขากรรไกรไม่เพียงพอ มักจะพบในฟันกรามแท้ซี่ที่สาม อาการที่มักพบจากฟันคุด จะทำให้มีอาการปวดฟัน บวม อักเสบ เป็นหนองฟันคุดอาจมองไม่เห็นในช่องปากแต่พบได้จากภาพถ่ายรังสี เมื่อตรวจพบฟันคุดแนะนำให้ผ่าตัดหรือถอนฟันคุดออก เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ
วัยผู้ใหญ่ ปัญหาของสุขภาพฟันในช่วงวัยทำงานนี้ ส่วนใหญ่มาจากลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คนทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศ มักจะมีพฤติกรรมรับประทานจุบจิบ รับประทานขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน น้ำอัดลมบ่อยซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้ง่าย การดื่มชา กาแฟ มีผลทำให้มีคราบสีน้ำตาลสะสมบนผิวฟัน นอกจากนี้ ความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน อาจทำให้ละเลยต่อการดูแลสุขภาพช่องปากทำให้เกิดฟันผุ หินปูนสะสมเกิดโรคเหงือกอักเสบได้ง่ายการดูแลสุขภาพฟันในวัยนี้ แนะนำให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
วัยชรา ในผู้สูงอายุปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบจะเป็นฟันผุ ทั้งในส่วนตัวฟันและรากฟันเนื่องจากมีการร่นของเหงือกร่วมด้วย การสูญเสียฟันเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นผลจากโรคฟันผุหรือโรคปริทันต์อักเสบที่ลุกลามจนไม่สามารถรักษาได้จนต้องถอนออก ทำให้ต้องใส่ฟันปลอมทดแทนเพื่อคงสภาพฟันไม่ให้ฟันล้มเอียงและทำให้มีการบดเคี้ยวปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะโภชนาการที่ดีได้รับสารอาหารครบถ้วน ดังนั้นนอกจากจะทำความสะอาดฟันธรรมชาติแล้ว ต้องทำความสะอาดฟันปลอมให้ดีด้วยในผู้สูงอายุอาจพบอาการปากแห้ง น้ำลายน้อย เนื้อเยื่อในช่องปากบางลงมีโอกาสเกิดแผลในช่องปากได้ง่าย การดูแลสุขภาพฟันในวัยนี้ แนะนำให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
5 ความเชื่อเรื่องการ ดูแลฟัน
หลายคนอาจได้ยินความเชื่อที่แชร์กันมาถึงวิธีการ ดูแลฟัน ในแบบต่าง ๆ ความเชื่อเหล่านี้เรื่องไหนจริงหรือหลอก
ความเชื่อที่ 1 ฟันน้ำนมไม่ต้องดูแลมาก เพราะเดี๋ยวก็หลุด
ความเชื่อนี้ไม่จริง เพราะฟันน้ำนมมีความสำคัญเช่นเดียวกับฟันแท้ เด็กใช้ฟันน้ำนมในการบดเคี้ยวอาหารเพื่อนำสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ฟันน้ำนมยังช่วยให้เด็กออกเสียงพูดได้ชัดเจนด้วยโดยปกติฟันน้ำนมซี่แรกมักขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือนเด็กจะใช้งานฟันน้ำนมไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งซี่สุดท้ายหลุดเมื่ออายุ 12 ปี หากฟันน้ำนมผุและถูกถอนออกไปก่อนฟันแท้จะขึ้นฟันแท้ที่ขึ้นมาใหม่มักมีโอกาสซ้อน เก หรือขึ้นไม่ได้
ความเชื่อที่ 2 ฟันหลุดให้โยนขึ้นหลังคาบ้าน
ความเชื่อนี้ไม่จริง เราอาจเคยได้ยินว่าถ้าฟันน้ำนมซี่บนหลุดให้โยนลงข้างล่าง แต่ถ้าฟันซี่ล่างหลุดให้โยนขึ้นข้างบน แต่หากฟันแท้หลุดแล้วโยนในลักษณะนี้ เราอาจสูญเสียฟันซี่นั้นไป เนื่องจากปัจจุบันมีวิธีการดูแลรักษาฟันแท้ที่หลุดออกมาได้แล้ว
ความเชื่อที่ 3 ฟันผุอมน้ำเกลือช่วยได้
ความเชื่อนี้ไม่จริง น้ำเกลือไม่ได้ช่วยให้ฟันหายผุ แต่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้บ้าง เพราะน้ำเกลือทำให้เศษอาหารที่ติดอยู่ในรูฟันผุหลุดออกมาได้ จึงบรรเทาอาการปวดได้ระยะหนึ่ง หากมีฟันผุควรมาพบทันตแพทย์เพื่อกรอเอาฟันผุออก แล้วอุดฟันใหม่
ความเชื่อที่ 4 ขูดหินปูนบ่อย ๆ ทำให้ฟันโยก รากฟันไม่แข็งแรง
ความเชื่อนี้ไม่จริง เครื่องมือที่ทันแพทย์ใช้ขูดหินปูนจะใช้การสั่นสะเทือนไปกระเทาะหินปูนให้หลุดออกมา ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวฟันและรากฟัน แต่หากคนไข้มีหินปูนเยอะหินปูนจะยืดฟันไว้แน่นเมื่อขูดออกอาจรู้สึกว่ามีฟันโยกแต่อาการฟันโยกนั้นมักเกิดจากโรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาด
ความเชื่อที่ 5 ฟันโยกให้ใช้เส้นด้ายดึงออกมา
ความเชื่อนี้ไม่จริง โดยปกติฟันน้ำนมที่โยกจะมีรากฟันละลายออกมาด้วย แต่หากฟันแท้โยกมักมีสาเหตุจากโรคปริทันต์อักเสบรากฟันจึงไม่ได้ละลายออกมา แต่ยังอยู่กับเหงือกที่มีเส้นประสาทเมื่อดึงออกคนไข้จึงรู้สึกเจ็บมาก เพราะฉะนั้นหากมีฟันโยก ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อถอนฟันอย่างถูกวิธี
ปัญหาฟันแบบไหนอย่านิ่งนอนใจ ต้องไปพบทันตแพทย์
โดยปกติทันตแพทย์แนะนำให้ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน แต่ถ้าสังเกตเห็นฟันผุ ฟันมีรู เป็นจุดดำ มีเหงือกอักเสบ บวมแดง มีเลือดออกตามไรฟัน มีกลิ่นปาก หรือมีอาการปวดฟัน เสียวฟัน ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาเพื่อดูแลฟันต่อไป
ทพญ.ชุติมา จรรยาธรรม
ฝ่ายทันตกรรม
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล