"สวนดุสิตโพล" เผย ปชช.เชื่อ "แพทองธาร" นั่งนายกฯ หวังเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.67 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง "คนไทยกับนายกรัฐมนตรี" ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค.67 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,239 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างคิดว่าการที่นายกฯเศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องการเมือง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ร้อยละ 52.88 และน่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ร้อยละ 70.30 ทั้งนี้หวังว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ควรเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน ร้อยละ 62.62 สุดท้ายคิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ น่าจะเป็นคุณแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 36.35 รองลงมาคือคุณอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 25.33
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลโพลสะท้อนถึงความกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นในช่วงนี้ มองเห็นถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองที่อาจกระทบต่อทิศทางการบริหารประเทศและนโยบายเรือธงที่เป็นความหวังของประชาชน เรื่องการเมืองมีความซับซ้อนและผลประโยชน์ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ผู้นำคนใหม่จึงต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจลึกซึ้งในปัญหาของประเทศและสามารถเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและนำพาประเทศไปสู่เสถียรภาพที่มั่นคง
ผศ.ยอดชาย ชุติกาโม อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า การหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ เวลานี้ มีความร้อนแรงอย่างยิ่ง และกระทบไปยังภาคส่วนต่างๆ จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล พบว่า 52.88% ประชาชนเชื่อว่าเป็นเรื่องการเมือง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง มีประชาชน เพียง 15.76% เท่านั้นที่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบกับชีวิตประจำวัน ขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าการหลุดจากตำแหน่งของนายเศรษฐา น่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย ในประเด็นที่ว่าใครสมควรเป็นนายกฯคนต่อไป ประชาชน 36.35% ให้คุณแพทองธาร ชินวัตร มาเป็นอันดับหนึ่ง เบียดคู่แข่งที่มาแรงอย่างคุณอนุทิน ชาญวีรกูล โดยประชาชนส่วนใหญ่คาดหวังว่านายกฯคนต่อไปต้องเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน และสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ทันทีซึ่งประชาชนมีความคาดหวังเรื่องเศรษฐกิจถึง 61.97% ทิศทางการเมืองไทยนับจากนี้ เราจะมีนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของการปกครองไทยนับตั้งแต่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมา 92 ปี คนรุ่นใหม่ที่หลายฝ่ายอยากได้มาสร้างรูปแบบ และกระบวนการทางการเมืองใหม่ ๆ จะเป็นดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป