ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รับรางวัลเหรียญทองจาก The American Heart Association รางวัลคุณภาพมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ก้าวสู่ รพ.หัวใจมาตรฐานระดับโลก แห่งแรกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.67 รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์โรคหัวใจ จัดงานแถลงข่าว ได้รับรางวัลเหรียญทอง จาก The American Heart Association รางวัลคุณภาพมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ก้าวสู่โรงพยาบาลหัวใจมาตรฐานระดับโลก แห่งแรกของประเทศไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้บริการวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดแบบครบวงจร มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ได้รับรางวัล Gold Award จาก The American Heart Association (AHA) จากสมาพันธ์แพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประจำปี พ.ศ.2567 ในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวหรือผู้ป่วยในภาษาอังกฤษเรียกว่า heart failure เป็นความภาคภูมิใจของทางโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติ นับว่าเป็นการปักหมุดของประเทศที่สำคัญ
รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแพทย์เฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด มีเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้บริการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจแบบครบวงจร จากทีมอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ให้บริการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนเป็นพิเศษ มุ่งให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับ และเป็นที่พึ่งทางสุขภาพของประชาชนคนไทย
ทางด้าน ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รอง ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล กล่าวว่า รพ.จุฬาลงกรณ์ได้รับรางวัล Gold award จาก the American Heart Association (AHA) ในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเจาะลึกในกลุ่มผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยให้ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ ปัจจุบันโรงพยาบาลมีนโยบายพัฒนาคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยทุกด้านไม่เพียงเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น มุ่งเน้นการวางแผนการรักษาให้ดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย ด้วยการสร้างระบบเริ่มตั้งแต่การวางแผนการดำเนินการให้มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาและเครื่องมือการตรวจวินิจฉัยต้องมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างดีที่สุด
รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงมาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ประเภทหัวใจล้มเหลวให้ได้ตามแนวทางเวชปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า guidelines ในการดูแลผู้ป่วยตลอด 2 ปี ที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ได้รับรางวัลเหรียญทอง สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องหมายยืนยันในมาตรฐานของการดูแลผู้ป่วย เป็นความภาคภูมิใจของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรของศูนย์โรคหัวใจ รวมถึงทุกหน่วยงานที่ร่วมกันรักษามารตฐานในการดูแลผู้ป่วยและพร้อมพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอย่างยั่งยืน
รศ.พญ.ศริญญา ภูวนันท์ หัวหน้าอนุสาขาวิชาภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ (Heart failure and transplant cardiology) และเป็น clinical champion ของรางวัลนี้ กล่าวว่า รพ.จุฬาลงกรณ์ได้เข้าร่วมโครงการคุณภาพการของ the American Heart Association ชื่อโครงการ the American Heart Association Get with the Guidelines of Heart Failure (โครงการคุณภาพการดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานเวชปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว) ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การได้มาซึ่งรางวัลคุณภาพ Gold Award อันทรงเกียรตินี้ โรงพยาบาลต้องผ่านการตรวจรับรองเกณฑ์หรือตัวชี้วัดต่าง ๆ ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 2 ปี (ห้ามตกเกณฑ์ในการดูแลผู้ป่วยตลอด 730 วัน)
ในปัจจุบัน มีงานวิจัยที่ในระดับสากลรับรองว่า หากผู้ป่วยได้รับการรักษาตามเกณฑ์ตัวชี้วัดเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสมรรถนะการออกกำลังที่ดีขึ้น และมีอัตราการนอนโรงพยาบาลซ้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยบางรายก่อนเข้ารับการรักษามีอาการเหนื่อยมาก มีภาวะน้ำท่วมปอดต้องนอนโรงพยาบาลซ้ำบ่อยครั้ง หลังได้รับการรักษาตามเกณฑ์ดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น และไม่เคยกลับเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลอีกเลย ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหนักถูกส่งตัวมาจากแพทย์โรคหัวใจจากต่างโรงพยาบาลอื่นเพื่อปลูกถ่าย (เปลี่ยน) หัวใจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่หลังจากการได้รับการดูแลตามมาตรฐานดังกล่าว ผู้ป่วยกลับมีอาการดีขึ้นและไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจอีก
ความสำเร็จของการได้รับรางวัล Gold Award ของ the American Heart Association Get with the Guidelines of Heart Failure ของ รพ.จุฬาลงกรณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีผู้สนับสนุนและดำเนินการหลังบ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ได้แก่ อ.นพ.ธนวินทร์ สุขสิริวรบุตร นพ.พีรวัฒน์ ภูวัตณัฐสิทธิ์ พญ.ธมลวรรณ โอสถธนากร พว.ภาวิณี นาควิโรจน์ พว.ลัดดาวัลย์ ไกรรักษ์ น.ส.จินดารัตน์ ซาวคำ และอาจารย์แพทย์โรคหัวใจและแพทย์ฝึกอบรมทุกท่าน พยาบาล เภสัชกร นักกำหนดอาหาร รวมถึงบริษัทโนวาร์ติส (ประเทศไทย) จำกัด
รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ หัวหน้าสาขาวิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่ ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหันที่อย่างที่บางท่านอาจเข้าใจผิด แต่ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นเป็นภาวะที่หัวใจ “ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องปั๊ม (pump) น้ำ” หรือในที่นี้ คือ ปั๊มเลือด ทำงานได้ลดลง ปั๊มเลือดได้น้อยลง ดังนั้นเลือดจึงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง และขณะเดียวกันเมื่อปั๊มเสียการทำงาน จะมีน้ำคั่งบริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำคั่งในปอด (ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ นอนแล้วหายใจอึดอัดต้องลุกขึ้นมานั่ง) หรือน้ำคั่งบริเวณขา (ผู้ป่วยอาจมีขาบวม) น้ำคั่งในช่องท้อง (ผู้ป่วยอาจมีอาการท้องอืด) เป็นต้น ภาวะหัวใจล้มเหลวจึงเกิดได้กับผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจทุกประเภท หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจทุกประเภทมีโอกาส (มีสิทธิ์) ที่จะมีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โรคหัวใจที่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวได้บ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคลิ้นหัวใจรั่ว ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ภาวะหัวใจล้มเหลว จัดเป็น โรคหรือภาวะที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ในปัจจุบันมีผู้ป่วยมากกว่าประมาณ 64 ล้านคนทั่วโลกประสบภาวะหัวใจล้มเหลว อุบัติการณ์ของภาวะหัวใจล้มเหลวในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่คาดว่ามีผู้ป่วยไทยประมาณ 4 ล้านคนประสบภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจล้มเหลวถือว่าน่ากลัวกว่าโรคมะเร็งบางชนิด เพราะมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง ภาวะหัวใจล้มเหลวมีอัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปี ประมาณร้อยละ 20-30 และอัตราการเสียชีวิตที่ 5 ปี เกินร้อยละ 50 กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะตายที่ 5 ปี การรักษามาตรฐานของภาวะหัวใจล้มเหลว คือ การรักษาสาเหตุของโรคหัวใจที่ทำให้หัวใจปั๊มเลือดได้ผิดปกติ การให้ยาตามมาตรฐานตามเวชปฏิบัติ (guideline-directed medical therapy) การฝังเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในหัวใจ และในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา อาจจำเป็นต้องได้รับการใส่เครื่องพยุงหัวใจ หรือการปลูกถ่ายหัวใจ
ผศ.(พิเศษ)นพ.สมชาย ปรีชาวัฒน์ หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นศูนย์ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกมิติ ทั้งการรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการฝังเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์หัวใจ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ การสวนหัวใจ การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด การเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยสายสวน การผ่าตัดหัวใจทุกชนิดทั้งชนิดทั่วไปและชนิดซับซ้อน การฝังเครื่องปั๊มหัวใจเทียม การปลูกถ่ายหัวใจ โดยมีอาจารย์แพทย์ที่มีความชำนาญมากประสบการณ์ในการรักษา และมีฝีมือที่ดีมากมาย ศูนย์โรคหัวใจมีเครื่องมือเทคโนโลยีทางด้านการวินิจฉัยและการรักษาหัวใจที่ทันสมัยระดับสากล เรามีความมุ่งหวังในการพัฒนาศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้น และมีนวัตกรรมปรับใช้กับผู้ป่วยคนไทย และก้าวพัฒนาต่อไปเพื่อเป็นที่พึ่งของการรักษาโรคหัวใจแก่ประชาชนชาวไทย