หลานโจว, 8 ส.ค. (ซินหัว) — ฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็ก 5 รอยจากยุคครีเทเชียส ซึ่งแต่ละรอยมีความยาวราว 1-3 เซนติเมตร ถูกค้นพบในมณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยเชื่อว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดในโลกเท่าที่ค้นพบมา
เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ในอุทยานธรณีโลกหลินเซี่ย ในแคว้นปกครองตนเองหลินเซี่ย กลุ่มชาติพันธุ์หุย พบรอยเท้าเหล่านี้ภายในอุทยานธรณีฯ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม หลังจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้รอยเท้าเหล่านี้ปรากฏบนพื้นผิวหินที่ผุกร่อน
รองศาสตราจารย์สิงลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (ปักกิ่ง) เผยว่ารอยเท้ารูปแบบนี้ถูกพบบริเวณแอ่งซื่อชวนของจีนเป็นครั้งแรก ก่อนที่ต่อมาจะมีการค้นพบในมณฑลซานตง และเกาหลีใต้
การค้นพบล่าสุดในหลินเซี่ยชี้ให้เห็นการกระจายตัวของรอยเท้าเหล่านี้ในวงกว้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และมีนัยสำคัญต่อการศึกษาลำดับชั้นหินตามชีวภาพ อายุทางธรณีวิทยา และความหลากหลายของไดโนเสาร์ในภูมิภาคเหล่านี้ อีกทั้งมอบมุมมองใหม่เกี่ยวกับการที่ไดโนเสาร์มีขนาดตัวเล็กลง ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การวิวัฒนาการไปสู่นก
ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์มากกว่า 2,000 รอยในอำเภอหย่งจิ้งของหลินเซี่ย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีวิทยาที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มรอยเท้าไดโนเสาร์หลิวเจียเสีย” (Liujiaxia dinosaur footprint cluster)
โหยวเหวินเจ๋อ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่าการค้นพบรอยเท้าไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่องช่วยเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของพื้นที่ท้องถิ่น ขณะที่การปกป้องคุ้มครองอุทยานธรณีวิทยาและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นมีส่วนช่วยขยายพื้นที่ในการค้นพบกลุ่มรอยเท้าไดโนเสาร์
สิงอธิบายว่ารอยเท้าที่พบใหม่บ่งชี้ว่าเจ้าของร่องรอยไม่ใช่ไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่เคลื่อนที่รวดเร็ว นอกจากนั้นพื้นผิวหินยังมีริ้วคลื่นชัดเจน แสดงให้เห็นว่ากลุ่มไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ เคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และพบรอยเท้าของนกน้ำจำนวนมากอยู่ข้างๆ ซึ่งเป็นการผสมผสานที่สอดคล้องกับการค้นพบในภูมิภาคอื่นๆ
สิงระบุเพิ่มเติมว่ารอยเท้าเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนถึงนิสัยและพฤติกรรมของไดโนเสาร์เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นความสัมพันธ์ของไดโนเสาร์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างอีกด้วย