โตเกียว, 8 ส.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพุธ (7 ส.ค.) ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ สู่มหาสมุทรแปซิฟิก รอบที่ 8 ท่ามกลางกระแสคัดค้านต่อเนื่องจากทั้งในและนอกประเทศ โดยโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปานี หรือเทปโก (TEPCO) จะปล่อยน้ำเสียจากถังเก็บราว 7,800 ตัน จนถึงวันที่ 25 ส.ค. นี้
สถานเอกอัครราชทูตจีนในญี่ปุ่นแสดงการคัดค้านอย่างหนักแน่นสำหรับกรณีปล่อยน้ำเสียลงมหาสมุทรอย่างไร้ความรับผิดชอบนี้ ชี้ว่าการปล่อยน้ำเสียสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของมวลมนุษยชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเลทั่วโลก และผลประโยชน์สาธารณะระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของญี่ปุ่นแต่อย่างใด
โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนกล่าวว่าการที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรอย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงความกังวลของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยของการปล่อยน้ำนี้ ความน่าเชื่อถือระยะยาวของโรงงานกรองน้ำ และประสิทธิภาพการจัดการเฝ้าติดตาม ได้กระจายความเสี่ยงของการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นไปทั่วโลก
ทั้งนี้ โฆษกฯ เรียกร้องฝ่ายญี่ปุ่นให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการจัดการเฝ้าติดตามระหว่างประเทศ ซึ่งมีประสิทธิภาพในระยะยาวและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 9.0 ตามมาตราแมกนิจูด และสึนามิตามมา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ทำให้แกนกลางเตาปฏิกรณ์หลอมละลายจนปล่อยกัมมันตรังสีออกมา นำสู่การเกิด “อุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7” ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้ผลิตน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาลจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในอาคารเตาปฏิกรณ์ ซึ่งปัจจุบันถูกกักเก็บอยู่ในถังของโรงไฟฟ้าฯ โดยญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 แม้มีการคัดค้านจากชาวประมงท้องถิ่น ผู้อยู่อาศัย และประชาคมระหว่างประเทศก็ตาม
(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 6 มี.ค. 2023)