เวลลิงตัน, 7 ส.ค. (ซินหัว) — การศึกษาฉบับใหม่ระบุว่าประชากรพะยูนมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มขึ้น โดยจำนวนพะยูนลดลงมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว และพะยูนในมหาสมุทรอินเดียตะวันตกได้สูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรมไปเมื่อไม่นานมานี้
การศึกษาครั้งใหม่เกี่ยวกับดีเอ็นเอ (DNA) โบราณจากตัวอย่างพะยูนในพิพิธภัณฑ์ ได้สร้างแผนผังความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสร้างแบบจำลองประชากรในอดีตของพวกมัน
คณะผู้เขียนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ของนิวซีแลนด์และมหาวิทยาลัยออสโลของนอร์เวย์ เผยว่าประชากรพะยูนทั่วโลกกำลังมีความหลากหลายลดลง และเสี่ยงได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ดังนั้นการเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประชากรพะยูนทั่วโลกอาจช่วยให้สามารถบ่งชี้พะยูนกลุ่มเปราะบางพิเศษเพื่อจัดดับความสำคัญในการอนุรักษ์
การศึกษาระบุว่าพะยูนมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมาเป็นเวลานับพันปี แต่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากมนุษย์มากมาย
คณะผู้เขียนกล่าวว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างประชากรพะยูน ทำให้ไม่สามารถระบุประชากรที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการอนุรักษ์ได้
การศึกษาพบว่าพะยูนตะวันตกมีระดับการแปรผันทางพันธุกรรมต่ำกว่าพะยูนตะวันออก 10 เท่า และความหลากหลายนี้ได้ลดลงในช่วงศตวรรษที่ 20
อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวเผยแพร่ในวันพุธ (7 ส.ค.) ผ่านทางวารสารรอยัล โซไซตี้ โอเพน ไซแอนซ์ (Royal Society Open Science)