สำรวจพบ "เขตมรณะ" ในอ่าวเม็กซิโกขยายตัว ก่อภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตทางทะเล

2024-08-05 10:15:27

สำรวจพบ "เขตมรณะ" ในอ่าวเม็กซิโกขยายตัว ก่อภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตทางทะเล

Advertisement

แซคราเมนโต, 2 ส.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าพื้นที่ “เขตมรณะ” (dead zone) ในอ่าวเม็กซิโกขยายตัวมากกว่าค่าเฉลี่ยในปีนี้ ซึ่งก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทางทะเลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก

การสำรวจประจำปีของคณะนักวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (1 ส.ค.) ระบุว่า “เขตมรณะ” ดังกล่าวเป็นบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำหรือไม่มีเลย กินเนื้อที่ราว 17,365 ตารางกิโลเมตร ทำให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 12 เท่าที่เคยวัดได้ในรอบ 38 ปี

“เขตมรณะ” รู้จักกันในชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าเขตพร่องออกซิเจน (hypoxia) เกิดจากธาตุอาหารส่วนเกินจากน้ำท่าของภาคการเกษตรและแหล่งอื่นๆ ที่ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกผ่านลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี-อัทชาฟาลายา ซึ่งธาตุอาหารเหล่านี้กระตุ้นการเกิดสาหร่ายสะพรั่ง (algal blooms) หรือมีปริมาณสาหร่ายในน้ำมากกว่าปกติ ทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง สภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำจึงส่งผลกระทบให้ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ ต้องอพยพหนีหรือเผชิญกับความตาย

รายงานระบุว่า “เขตมรณะ” มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างมาก ผลศึกษาแสดงให้เห็นว่าภาวะพร่องออกซิเจนทำให้อาหาร อัตราการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ และการใช้ถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งส่งผลต่อสัตว์สายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางการค้าอย่างเช่นกุ้ง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นมีขนาดใหญ่พอๆ กับรัฐนิวเจอร์ซี

การตรวจวัดขนาดเขตมรณะประจำปีเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามของกองกำลังปฏิบัติการด้านภาวะพร่องออกซิเจนในแม่น้ำมิสซิสซิปปี/อ่าวเม็กซิโก (Mississippi River/Gulf of Mexico Hypoxia Task Force) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและรัฐบาลกลางที่ตั้งเป้าหมายลดเขตมรณะเฉลี่ย 5 ปีให้เหลือต่ำกว่า 4,921 ตารางกิโลเมตรภายในปี 2035

อย่างไรก็ดี ค่าเฉลี่ย 5 ปีในปัจจุบัน อยู่ที่ 11,131 ตารางกิโลเมตร ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนและความท้าทายสำคัญที่รออยู่ในภายภาคหน้า

“เราต้องวัดระดับภาวะพร่องออกซิเจนของภูมิภาคนี้เพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้สุขภาพของมหาสมุทร โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและพายุที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าที่เพิ่มขึ้น” นิโคล เลอเบิฟ ผู้ช่วยผู้ดูแลฝ่ายบริการมหาสมุทรแห่งชาติขององค์การฯ กล่าว


(แฟ้มภาพซินหัว : ชาวประมงท้องถิ่นทำงานบริเวณทะเลสาบเคนทักกี รัฐเคนทักกีของสหรัฐฯ วันที่ 12 เม.ย. 2019)