"ชัยธวัช" แถลงสรุปผล กมธ.นิรโทษกรรมเห็นชอบแนวทางตั้ง คกก.นิรโทษกรรมพิจารณาคดีที่เกิดจากแรงจูงใจการเมืองตั้งแต่ปี 48 เป็นรายกรณี เผยเห็นต่างนิรโทษ ม.112 พร้อมใส่ทุกความเห็นในรายงานให้ ครม. สภาฯ พิจารณา
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.67 ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม และ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงสรุปผลการประชุมนัดสุดท้ายของ กมธ. เพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาส่งให้ ครม.และสภาฯ พิจารณาต่อ
นายชัยธวัชกล่าวว่า ผลสรุปของการประชุม กมธ. ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงฐานความผิดหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ดังเช่นกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้มีความซับซ้อนหลายมิติ เกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์และหลากหลายฐานความผิดที่ทับซ้อนกัน ดังนั้น วิธีการตรากฎหมายที่จะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากที่สุดคือการตั้ง "คณะกรรมการนิรโทษกรรม" ขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองเป็นรายกรณี ว่าคดีใดบ้างที่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า คณะกรรมการนิรโทษกรรมที่ตั้งขึ้นนั้นจะตั้งเป้านิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดย กมธ. ได้ให้นิยามของแรงจูงใจทางการเมืองว่าหมายถึง การกระทำที่มาจากพื้นฐานความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งคดีที่เข้าข่ายแรงจูงใจทางการเมืองเช่นนี้จะอยู่ในขอบข่ายของการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ยกเว้นคดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กมธ. หลายท่านให้ความสนใจและมีความเห็นแตกต่างกันพอสมควร คือจะมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดในคดีอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ สามารถแบ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันใน กมธ. ออกได้เป็น 3 แนวทาง คือ 1. เห็นด้วยกับการให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาคดีอาญามาตรา 112 ไม่แตกต่างจากฐานความผิดอื่นๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ กมธ. ในสัดส่วนพรรคก้าวไกล ทั้ง ส.ส. บุคคลภายนอก นักวิชาการ และอัยการ เห็นด้วย 2. ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 โดยสิ้นเชิง 3. เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 แต่ต้องนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข แตกต่างจากฐานความผิดอื่น เพราะ กมธ. หลายคนมีความกังวลใจว่าหากนิรโทษกรรมไปแล้วจะเกิดการแสดงออกเพิ่มเติม และนำไปสู่การดำเนินคดีอีกครั้งหรือไม่ จึงต้องนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขบางประการ
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า กมธ. ที่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 เห็นว่าการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 ควรมีเงื่อนไขสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือ การให้อำนาจคณะกรรมการนิรโทษกรรมกำหนดเงื่อนไขบางอย่างสำหรับคดีอาญามาตรา 112 หากผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องการเข้าสู่กระบวนการก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นนี้ก่อน และในกรณีที่มีการละเมิดเงื่อนไขก็อาจจะเสียสิทธิในการนิรโทษกรรมไป ส่วนประการที่สองคือ ควรมีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำก่อนที่จะได้รับการพิจารณา เช่น ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือผู้กระทำผิดต้องมาแถลงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุและแรงจูงใจ รวมถึงควรมีกระบวนการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายผู้ชุมนุมมาพูดคุยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อเท็จหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่คดีอาญามาตรา 112 อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการว่าจะนิรโทษกรรมหรือไม่ กมธ. เห็นว่ารัฐบาลควรจะมีมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาควบคู่กันไปด้วย เช่น ชะลอการฟ้อง ให้สิทธิในการประกันตัว หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อลดแรงเสียดทานและบรรเทาบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองลง
นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในเรื่องการนิรโทษกรรมคดีอาญามาตรา 112 นี้ ทาง กมธ. ไม่ได้มีการลงมติ แต่จะบันทึกทุกความเห็นลงไปในรายงานสรุปผลการศึกษาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และส่งกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 60 วัน ซึ่งเมื่อรายงานกลับเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว ตนหวังว่า ครม. และพรรคการเมืองต่างๆ จะรีบจัดทำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของตนเองยื่นเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมโดยเร็ว เพื่อเร่งอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมานี้