ส.ส.ก้าวไกลจี้กระทรวงพลังงานหามาตรการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง หวั่นกองทุนน้ำมันแบกรับส่วนต่างสุ่มเสี่ยงล้มละลาย
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาของ นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถามนายกรัฐมนตรี ถึงราคาน้ำมันแพง ซึ่งมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นผู้ตอบ กระทู้เรื่อง ราคาน้ำมันแพง
นายศุภโชติ กล่าวว่า ล่าสุดที่รัฐออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ ลิตรละ 33 บาท แต่รัฐมีมาตรการมาช่วยกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินหรือไม่ เพราะมาตรการที่ออกมากำลังสร้างผลกระทบเชิงลบในระยะยาว และตอนนี้กองทุนน้ำมันติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท ถือเป็นกองทุนที่สุ่มเสี่ยงต่อการล้มละลายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแผนการชำระหนี้ หรือที่จะมีการลดภาษีสรรพสามิตร ซึ่งกรมสรรพสามิตรรายงานว่า 9 เดือนที่ผ่านมาเก็บรายได้พลาดเป้าไปแล้ว6 หมื่นล้านบาท มาจากภาษีน้ำมันอย่างเดียว 2.5 หมื่นล้านบาท ถ้ายังจะใช้กลไกลเดิมลดภาษีสรรพสามิตรแบบนี้ประเทศก็จะเก็บรายได้ได้น้อยลง ขอถามว่ารัฐจะช่วยลดราคาน้ำมัน และมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน โดยเฉพาะผู้ใช้มอเตอร์ไซด์อย่างไร
ด้านนายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ก่อนหน้าที่ตนจะมาเป็น รมว.พลังงานก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่รู้เรื่องว่าอะไรเป็นอะไร แต่เมื่อตนมาเป็นรมว.พลังงาน ก็เห็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นประเด็นมาถึงวันนี้ รวมถึงภาระของกองทุนน้ำมัน ไม่เคยมีใครคิดจะแก้ปัญหาเลยถึงต้องเป็นแบบนี้ เพราะกฎเกณฑ์กติกาที่ใช้มากว่า 40 ปี โดยที่ไม่มีใครคิดจะปรับปรุงแก้ไข จึงใช้แต่เงินกองทุนน้ำมัน อย่างไรก็ตามเนื้อน้ำมันทุกประเทศเหมือนกันหมด แต่ราคาที่ขายหน้าปั๊มแต่ละประเทศที่ต่างกันอยู่ที่รัฐบาล และวิธีการจัดการที่สำคัญคือการเก็บภาษีจากรัฐบาล จึงทำให้ราคาปลายทางต่างกัน แต่ประเทศไทยพิเศษกว่าประเทศอื่นเพราะในอดีตที่ผ่านมาราคาแก๊สโซฮอลล์ ถูกกว่าน้ำมัน นโยบายเพื่อช่วยเกษตรกร และวันนี้นโยบายดังกล่าวก็ยังอยู่ แต่ปัจจุบันราคาเอทานอลผสมกับไบโอดีเซล แพงกว่าน้ำมัน ทำให้เราต้องเอาของที่แพงกว่าน้ำมันมาผสมกับของที่ถูกกว่า เพราะฉะนั้นเนื้อน้ำมันของเราราคาประมาณลิตรละ 21 บาทกว่า เพราะมีสองส่วนนี้มาผสม
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องภาษี หากจะช่วยประชาชนก็ต้องเก็บพอสมควร แต่ถ้าต้องการหารายได้เข้ารัฐก็ต้องเก็บมาก ซึ่งส่วนทางกัน ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ในความพอดี ปัจจุบันมี 3 ประเทศที่เก็บภาษีสรรพสามิตร ไทยเก็บ 5.99 บาท สิงคโปร์ 5.54 บาท เวียดนาม 1.70 บาท แต่รายได้ปราชากรต่อหัวต่างกัน และของไทยยังมีภาษีบำรุงท้องถิ่นอีก 60 สตางค์ รวมทั้งยังมีภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน เมื่อผู้ค้าน้ำมันจ่ายภาษีตรงนี้ แล้วเอาไปขายให้ปั้ม น้ำมัน ก็โดนภาษีอีกรอบ ระบบภาษีของเราทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาษีสองต่อ ตรงนี้ทำให้ราคาเพิ่มมาอีกเกือบ 20 บาท จึงทำให้น้ำมันแก็สโซฮอล์ราคาเกือบลิตร 40 บาท ส่วนดีเซลถ้าไม่ตรึงราคาก็ไม่ใช่ลิตรละ 33 บาท ตนจึงไม่คิดว่าการใช้เงินมายันน้ำมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมาชาติประชาชนก็ต้องแบกรับภาระ จึงต้องคิดว่าจะแก้ปัญหาอะไร ตนจึงกำลังแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันมาใหม่ เพื่อให้รู้ต้นทุนน้ำมัน เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระมากเกินไป และรัฐมีรายได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายฉบับนี้เข้าสภาฯขอให้ช่วยให้ผ่านด้วย
นายศุภโชติ ยังได้ตั้งคำถาม เรื่องปัญหาค่าไฟแพง ว่า ทางสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) บอกว่าค่าไฟมีสิทธิ์จะขึ้นไปถึงหน่วยละ 4.60 บาท หรือแย่ที่สุด หน่วยละ 6 บาท ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ หน่วยละ 4 บาท การที่ กกพ.เรียกเก็บ 4.60 บาท เป็นอย่างน้อย เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้จากมาตรการในอดีตที่ให้ กฟผ.และปตท. แบกรับหนี้ก้อนนี้เอาไว้ จนปัจจุบันหนี้ใกล้เคียงกับกองทุนน้ำมันแสนกว่าล้านบาท แต่รัฐบาลยังไม่มีมติชำระหนี้ก้อนนี้ เพื่อตรึงค่าไฟ้อยู่ที่ 4.18 บาท หากในอนาคตยังใช้กลไกลแบบเดิมหนี้ก็จะขยายไปถึง 2 แสนล้านบาทได้ จึงอยากถามว่าจะเอาอย่างไรกับหนี้เก่าและหนี้ใหม่ในอนาคต ตนขอเสนอให้กล้าคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ว่าจำเป็นหรือยังที่ต้องตั้งงบกลางเพื่อช่วยลดค่าไฟให้กับประชาชน แทนที่จะเอาเงินไปทำดิจิทัลวอลเล็ต อย่าเอางบกลางไปทำนโยบายของพรรคเขาเพียงพรรคเดียว ถ้าพรรคใหญ่ไม่ให้ใช้งบกลาง ท่านก็ต้องคุยกับนายทุนพลังงาน เจ้าของโรงไฟฟ้า ที่ขายไฟฟ้าไม่เป็นธรรมกับประชาชน
ด้านนายพีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ปัญหาของไฟฟ้าคือสัญญาที่ทำกันก่อนที่ตนจะมาเป็นรัฐมนตรี ปัจจุบันได้ให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวกับดูสัญญาต่างๆว่าจะสามารถปรับแก้อย่างไรได้บ้าง ส่วนเรื่องภาระของการไฟฟ้า เป็นหน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องหากำไรมาแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้น แต่ต้องมีเงินน้ำส่งกระทรวงการคลัง แต่ต้องดูแลประชาชนไม่ให้แบกภาระ ซึ่งราคาค่าไฟ 4.18 บาท ในงวดปัจจุบัน ตนคิดว่าประชาชนก็พอใจ แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้ใคร ในงวด 4.18 บาทการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีเงินไปใช้หนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท งวดต่อไปอีกประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท อย่างไรก็ตามจากที่มีการพูดคุยกันการไฟฟ้าฯและปตท. คิดว่าสามารถดูแลต่อไปได้เพื่อให้ประชาชนไม่ลำบาก จึงไม่ต้องเป็นห่วง แต่กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาค่าไฟถูกลง