บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. ทลายแหล่งผลิตโบท็อกปลอม ส่งขายคลินิกเสริมความงามทั่วกรุง ตรวจยึดของกลางกว่า 2.6 หมื่นชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10 ล้าน
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.67 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติงานทลายแหล่งผลิตโบท็อกปลอมในพื้นที่ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอื่น ๆ จำนวน 90 รายการ รวมทั้งสิ้น 26,293 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาท
จากการสืบสวนทราบว่า การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาปลอม ผู้สั่งการ คือ แพท หรือ พลอยใส ซึ่งเป็นชื่อในวงการเสริมความงาม โดยมีการผลิตในบ้านพักอาศัยของตนเอง และบ้านที่เปิดเป็นบริษัท เกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั่วไป บังหน้า เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ โดยสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิตจะอยู่บ้านพักอาศัย ส่วนบ้านที่เปิดบริษัท จะเป็นที่บรรจุภัณฑ์และเก็บสินค้าที่พร้อมจะกระจายไปให้ลูกค้า ซึ่งสถานที่ทั้ง 2 แห่ง มีลักษณะเป็นหมู่บ้านหรู เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบพบของเจ้าหน้าที่ ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอมจะผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคลินิกเสริมความงาม มีการจัดส่งไปยังทั่วประเทศ โดยเฉพาะ พื้นที่ใน กทม. และ ปริมณฑลการผลิต การจำหน่ายและการจัดส่ง มีการมอบหมายหน้าที่กันอย่างชัดเจน คือ แพท หรือ พลอยใส ผู้สั่งการจะตั้งกลุ่มเฉพาะทางช่องทางแอพพลิเคชั่นไลน์ขึ้นมา และเชิญบุคคลซื้อขายเข้ากลุ่ม เมื่อมีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปประเภทวิตามินต่าง ๆ ซึ่งเป็นยาที่ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ไม่พบเลขทะเบียนตำรับยา โดยทางร้านก็จะจัดส่งไปให้ลูกค้า แต่หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตปลอมขึ้นมาได้ จะสั่งให้ น.ส.เมย์ สัญชาติเมียนมา ลูกจ้าง ทำหน้าที่ผลิตขึ้นที่บ้านย่านนวมินทร์ 111 ถ.ประดิษฐ์มนูกิจ แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. เมื่อผลิตครบตามจำนวนสั่งซื้อก็จะส่งต่อไปยังบ้านย่าน ซ.เสมอดามาพงศ์ ถ.ลาดพร้าว 71 แขวง/เขตลาดพร้าว กทม. เพื่อให้ น.ส.คัม สัญชาติเมียนมา ลูกจ้าง ทำหน้าที่บรรจุผลิตภัณฑ์ลงกล่องยาปลอม พร้อมใส่เอกสารกำกับยา ติดสติกเกอร์ ต่อมาจะสั่งให้นายเบส และ นายตูน เป็นผู้จัดส่งให้ลูกค้าต่อไป
ขั้นตอนการผลิต จะใช้อุปกรณ์กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา โดยใช้ตัวยาที่ไม่มีทะเบียนตำรับยาและน้ำเกลือเป็นส่วนประสมในการใส่ลงในขวด vial โดยผู้ผลิตจะใช้การคาดคะเนปริมาณของตัวยาและน้ำเกลือเองไม่มีค่าตามมาตรฐาน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต จะลงบรรจุภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น โดยในการตรวจค้นครั้งนี้ ยังพบอีกว่า สถานที่ผลิตไม่ได้รับอนุญาตและไม่ถูกสุขลักษณะ โดยพบว่าหากมีคำสั่งซื้อและให้ราคาที่ต่ำ ผู้ผลิตจะใช้น้ำเกลืออย่างเดียวโดยไม่มีการใส่ตัวยาในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยใช้น้ำเกลือ 1 ขวด สามารถผลิตได้กว่า 1,000 ขวด ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดทั้งหมด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉีดเข้าสู่ร่างกาย หากมีการผลิตที่ไม่ได้รับมาตรฐาน จะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้
ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า Neuronox เป็นยาปลอม และยังเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาปลอมมี Nabota, Aestex, Guna-Made, Guna -Collagen จากการตรวจค้น พบ บรรจุภัณฑ์ สติกเกอร์ และใบกำกับยา ของยี่ห้อดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมตรวจค้น 2 จุดตรวจยึดของกลางทั้งหมด 90 รายการ รวมทั้งสิ้น 26,293 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 10,000,000 บาท อุปกรณ์และวัตถุการผลิต จำนวน 46 รายการ ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องมือแพทย์ และเครื่องสำอาง จำนวน 44 รายการ จากการสืบสวน พบมีการใช้บัญชีม้าในการรับเงินค่าผลิตภัณฑ์เสริมความงามปลอม เพื่อหลบหลีกการตรวจสอบพบของเจ้าหน้าที่ กว่า 5 บัญชี จากการตรวจสอบเพียง 1 บัญชี พบว่า ตั้งแต่ ม.ค. 67 - มิ.ย.67 มีเงินหมุนเวียนกว่า 10 ล้านบาท อีก 4 บัญชีอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ โดยในวันที่ตรวจค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ตรวจยึด ของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อทำการออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาต่อไป เบื้องต้น การกระทำของ ผู้ต้องหากับพวก เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551