สีดวงตาบอกโรคได้จริงหรือ?
เราคงเคยได้ยินกันว่า ดวงตา เป็นหน้าต่างของหัวใจ แต่สำหรับทางการแพทย์แล้ว ดวงตาเป็นหน้าต่างที่บ่งบอกถึงโรคที่ซ่อนอยู่ได้ สีดวงตาที่เปลี่ยนไปบอกว่าเรากำลังเป็นโรคอะไรได้บ้าง ความเชื่อต่าง ๆ เรื่อง สีดวงตาบอกโรค ที่แชร์ต่อ ๆ กันมา เรื่องไหนจริงหรือเท็จ
หน้าที่ของดวงตา
ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแสงให้กลายเป็นคลื่นไฟฟ้า และส่งไปที่สมอง แล้วแปลผลกลายเป็นภาพให้เรามองเห็น
ทำไมคนเรามีสีดวงตาแตกต่างกัน
เชื้อชาติเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สีดวงตาไม่เหมือนกัน ไม่เฉพาะแค่ สีดวงตา เท่านั้น ชนิดและจำนวนของเม็ดสีเมลานินในเชื้อชาติที่แตกต่างกันยังส่งผลต่อสีผมและสีผิวอีกด้วย คนเอเชียมีผมสีดำ ผิวสีเข้ม ตาสีน้ำตาล ขณะที่ชาวต่างชาติมีสีตาที่สวยงามกว่า เช่น สีเขียว สีฟ้า สีเทา เนื่องจากมีปริมาณเม็ดสีเมลานินที่น้อยกว่า
จริงไหมที่สีดวงตาบอกโรคได้
แม้คนเอเชียจะมีเม็ดสีเมลานินที่เข้ม แต่ในบางคนอาจพบว่าม่านตามีสีอ่อน กรณีนี้ควรพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะคนไข้อาจมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น โรคผิวเผือกที่ส่งผลเฉพาะที่ตา โรควาร์เดนเบิร์กซินโดรม (Waardenburg syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ตามีสีฟ้า หรือโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบที่ม่านตา และทำให้เม็ดสีเมลานินที่ดวงตาข้างนั้นลดลงจนเห็นว่าตามีสีอ่อนลงเมื่อเทียบกับสีตาอีกข้าง นอกจากสีตรงบริเวณม่านตาที่บ่งชี้ถึงอาการของโรคแล้ว สีของดวงตาตรงบริเวณตาขาวก็สามารถบ่งชี้ถึงโรคบางอย่างได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การที่คนไข้มีตาสีเหลืองที่พบร่วมกับตัวเหลืองในภาวะดีซ่าน หรือคนไข้บางคนที่ตาขาวบริเวณหัวตาและหางตาเป็นออกเหลือง ๆ เนื่องจากการโดนลมและแดดทำให้มีภาวะต้อลมก็จะดูเหมือนกับเป็นโรคดีซ่านได้เช่นกัน
4 ความเชื่อ สีดวงตาบอกโรคได้จริงไหม
แม้คนไทยส่วนมากจะมีดวงตาสีน้ำตาลหรือดำ แต่บางครั้งเราอาจสังเกตเห็นว่าสีของดวงตาเปลี่ยนไป สีที่แตกต่างกันสามารถทำนายโรคของร่างกายและโรคของดวงตาได้จริงหรือไม่
ความเชื่อที่ 1 ตามีสีเหลือง เสี่ยงเป็นโรคตับหรือดีซ่าน
ความเชื่อนี้จริง เมื่อมีปัญหาโรคตับและเกิดภาวะดีซ่าน ตับจะไม่สามารถกำจัดสารสีเหลืองที่ชื่อว่า “บิลิรูบิน” ในร่างกายได้ สารนี้จึงกระจายไปทั่วร่างกายอยู่ในกระแสเลือด คนไข้จะมีอาการเหลืองทั้งตัว แต่อาการตาเหลืองเป็นอาการที่สังเกตได้ง่ายกว่าสีผิวของร่างกาย เนื่องจากดวงตาบริเวณตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเห็นได้ชัดเจน
ความเชื่อที่ 2 ตามีสีเขียว เสี่ยงเป็นโรคต้อหินและโรคจอประสาทตา
ความเชื่อนี้ไม่จริง แต่คาดเดาว่าต้อหินทำให้ความดันตาสูงขึ้น กระจกตาจึงมักจะบวม ม่านตาเลยขยายทำให้เห็นเลนส์ตาได้ชัดขึ้น เลนส์ตาที่ใสจะมีสีดำ ทำให้มองเข้าไปแล้วอาจดูคล้ายสีเขียว
ความเชื่อที่ 3 ตามีสีขาว เสี่ยงเป็นโรคต้อกระจก
ความเชื่อนี้จริง เป็นความจริงบางส่วน โดยปกติคนที่ไม่ได้เป็นต้อจะมีรูม่านตาสีดำ เนื่องจากเลนส์ตาที่ใสจะมีสีดำ แต่เมื่อต้อกระจกสุกมาก รูม่านตาจะกลายเป็นสีขาว อย่างไรก็ตามหากต้อกระจกไม่ได้สุกมาก ถึงแม้จะมีต้อกระจกแล้วก็อาจจะไม่เห็นตาเป็นสีขาว
ความเชื่อที่ 4 ตามีสีแดง เสี่ยงเป็นเยื่อบุตาอักเสบ
ความเชื่อนี้จริง คนที่ตามีสีแดงหรือเป็นโรคตาแดง เกิดจากภาวะเยื่อบุตาอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ อาการภูมิแพ้ หรือการอักเสบภายในลูกตา
อาการผิดปกติกับดวงตาที่ไม่ควรมองข้าม
เห็นภาพซ้อน ตาเข ตาเหล่ อาการนี้อาจเป็นอาการของโรคทางสมองได้ หากหลับตา 1 ข้างแล้วภาพซ้อนหายไปแสดงว่ามีภาวะตาเข ตาเหล่ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นประสาทสมองที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตาผิดปกติไป ได้แก่ เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 คู่ที่ 4 และคู่ที่ 6
การมองเห็นลดลงหรือตามัวอย่างเฉียบพลัน เกิดได้จากหลายสาเหตุแต่สาเหตุที่ฉุกเฉินและส่งผลเสียรุนแรงต่อการมองเห็น คือ สาเหตุจากหลอดเลือดแดงที่ตาอุดตันฉับพลัน คนไข้ควรรีบมาพบจักษุแพทย์ภายใน 90 นาที
หนังตาตก อาการนี้อาจรบกวนการมองเห็นได้ หากเป็นตั้งแต่เด็กและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ ส่วนในผู้สูงวัยส่งผลให้มองเห็นลำบาก หรือหนังตาตกอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ผิดปกติ นอกจากนี้การมีก้อนเนื้องอกหรือเปลือกตาบวม ก็ส่งผลให้หนังตาตกได้เช่นกัน
ตาคล้ำ บางคนมีอาการตาคล้ำโดยที่ไม่ได้เกิดจากการอดนอน แต่ที่ส่งผลให้การไหลเวียนของน้ำเหลืองบริเวณใบหน้าไม่ดีเหมือนเดิม ส่งผลให้ขอบตาดูคล้ำลง
คำแนะนำในการตรวจดวงตาด้วยตนเอง
วิธีตรวจดวงตาแบบง่าย ๆ ว่ายังมองเห็นชัดเจนดีทั้งสองข้างหรือไม่ คือ การปิดตาสลับกันทีละข้างหลังตื่นนอนในตอนเช้า
ใส่คอนแทคเลนส์สี เสี่ยงตาติดเชื้อ
วัยรุ่นสมัยนี้ส่วนหนึ่งซื้อคอนแทคเลนส์สีแบบบิ๊กอายมาใส่เพื่อความสวยงาม โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแก้ค่าสายตาให้มองได้ชัดขึ้น กรณีนี้อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อและตาบอดได้ หากจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์ แนะนำให้ใส่เพื่อแก้ค่าสายตาเพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่คอนแทคเลนส์ที่ใส่เพื่อแก้ค่าสายตา หากดูแลรักษาความสะอาดได้ไม่ดีก็สามารถเกิดการติดเชื้อและตาบอดได้เช่นกัน
ดวงตา เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย การหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตา และรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้มีสุขภาพตาที่ดีไปจนถึงวัยสูงอายุ
ผศ.พญ.วฎาการ วุฒิศิริ
สาขาวิชากล้ามเนื้อตาและโรคตาในเด็ก ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล