สถาบันโรคผิวหนัง ชี้แสงแดดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไปก่อให้เกิดอันตราย แนะวิธีป้องกันและดูแลผิวหนังที่ถูกวิธี
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า แสงแดด มีความสำคัญในการสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกระดูก หากร่างกายไม่ได้รับแสงแดดอาจทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน แต่ถ้าได้รับแสงแดดน้อยเกินไปอาจมีปัญหานอนไม่หลับ หรือภาวะซึมเศร้าได้ ช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุด คือช่วงแดดจัดๆ ตั้งแต่ช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. ทั้งนี้ผลกระทบจากแสงแดดจะทำให้ผิวหนังแดงขึ้น ผิวไหม้ บางคนผิวอาจจะคล้ำขึ้นทันที แต่บางคนต้อง โดนแดดต่อเนื่องแล้วผิวจะค่อยๆ คล้ำขึ้น ผิวคล้ำเกิดจากการที่ผิวหนังโดนแสงแดดเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง เกิดสีกระดำกระด่าง กระ ฝ้า หรืออาจจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดต่างๆ ได้ ดังนั้น การใช้ยากันแดดเพื่อป้องกันรังสีจากแสงแดดจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาผิวหนังจากแสงแดด ได้แก่ ผด ผื่น คัน แพ้แสงแดด ผิวไหม้ ผิวคล้ำ กระ โดยเฉพาะฝ้าเป็นปัญหาผิวหนังสำคัญ ที่พบบ่อยทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ฝ้าคือผื่นสีน้ำตาลที่ใบหน้าโดยเฉพาะที่บริเวณแก้ม จมูก หน้าผาก คาง ตลอดจนแขนและบริเวณที่ถูกแสงแดด โดยมักเป็นเท่ากันที่ 2 ข้างของใบหน้า พบมากในผู้หญิงวัย30 – 40 ปี แต่ปัจจุบันเริ่มพบมากขึ้นในผู้ชาย สาเหตุของการเกิดฝ้ายังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจจะเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน
“ปัจจัยสำคัญที่สุดคือแสงแดดเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ฝ้าเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าฮอร์โมนเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญโดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์หรือรับประทานยาคุมกำเนิดจะเป็นฝ้าได้ง่าย ปัจจัยทางพันธุกรรมมีส่วนสำคัญกับการเกิดฝ้า เนื่องจากพบได้ร้อยละ 20 – 70 เครื่องสำอางและยาเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า การแพ้ส่วนผสมบางชนิดในเครื่องสำอาง เช่น สารให้กลิ่นหอมหรือสี อาจทำให้เกิดฝ้าได้ ทั้งนี้ การดูแลผิวหนังเพื่อป้องกันภัยจากแสงแดด ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด หากจำเป็นต้องป้องกันโดยกางร่ม สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาว และทายากันแดดสม่ำเสมอก่อนออกจากบ้าน”พญ.มิ่งขวัญ กล่าว