"ธรรมนัส-อรรถกร" พบเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเล ประมงพื้นบ้านแหลมทราย พร้อมสนับสนุนการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย แหล่งเงินทุน เพื่อให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลและประมงพื้นบ้านแหลมทราย พร้อมเยี่ยมชมกระชังเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลและประมงพื้นบ้านแหลมทราย โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ท่าเรือแหลมทราย หมู่ที่ 6 ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ทั้งนี้ จ.ภูเก็ต นับเป็นแห่งแรกที่สามารถผลิตลูกพันธุ์ได้และสามารถจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ต ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนแหลมทรายแห่งนี้มีสมาชิก 27 ราย จำนวนกระชัง 72 กระชัง พื้นที่ 648 ตร.ม. สามารถผลิตได้ 4 ตัน/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 200 – 250 บาท โดยเนื้อปลาช่องทะเลนิยมนำมาใช้ทำปลารีดเลือดหรือปลาดิบ หรือซาชิมิ ปัจจุบันผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดผู้บริโภค
สำหรับแนวทางในการพัฒนาส่งเสริมของกรมประมง จะมีการพัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตลูกพันธุ์สู่ภาคเอกชน ควบคู่การผลิตลูกพันธุ์โดยภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเพิ่มพื้นที่อนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำควบคุม ประเภทการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง ในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด อีกทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้สามารถลดต้นทุนในทุกด้าน เช่น การผลิตอาหารสำเร็จรูป การพัฒนาสายพันธุ์ที่โตดี FCR ต่ำด้วย
"แม้ว่า จ.ภูเก็ต ส่วนใหญ่จะพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันยังคงมีประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรโดยเฉพาะการทำประมงพื้นบ้าน โดยในพื้นที่นี้มีการรวมกลุ่มของพี่น้องชาวประมงเป็นวิสาหกิจชุมชนเพาะเลี้ยงปลาช่อนทะเล ซึ่งสามารถนำมาทำเป็นซาชิมิ ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จึงพร้อมที่จะเข้ามาสนับสนุน ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัย และแหล่งเงินทุน เพื่อให้สามารถต่อยอดการประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนในเรื่องที่พี่น้องชาวประมงร้องขอ ในเรื่องการพัฒนาพื้นที่เป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว ที่จะต้องบูรณาการร่วมกัน ทั้งกรมประมง กรมเข้าท่า และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้มอบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว