เปิดงบปี 68 "ดิจิทัลวอลเล็ต" ซุกในงบกลาง 152,700 ล้าน

2024-06-13 15:58:09

เปิดงบปี 68  "ดิจิทัลวอลเล็ต" ซุกในงบกลาง 152,700 ล้าน

Advertisement

เปิดงบปี 68  "ดิจิทัลวอลเล็ต" ซุกในงบกลาง 152,700 ล้าน อ้างใช้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ขณะที่ "ซอฟต์พาวเวอร์" อยู่ใน วธ. ส่งเสริมท่องเที่ยวถึง 15 ล้าน   

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.67  ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2568 วาระแรก ระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย.67 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เป็นจำนวน 272,700 ล้านบาท โดยงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมากสุด 10 อันดับแรกคือ 1.งบกลาง จำนวน 805,745ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 190,801.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 31 2.กระทรวงการคลัง จำนวน 390,314.8ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 63,294.3ล้านบาท 3.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 340,584.7ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 12,413.8 ล้านบาท 4.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 294,863.3 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2567 จำนวน 56,732.9 ล้านบาท 5.กระทรวงกลาโหม จำนวน 200,923 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 5,179.9 ล้านบาท 6.กระทรวงคมนาคม จำนวน 193,618.6ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 10,338.4ล้านบาท 7.กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 172,285.1ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 6,909.2 ล้านบาท 8.กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 132,294.1ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 4,955.7 ล้านบาท 9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 123,150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 4,726.2ล้านบาท 10.กระทรวงแรงงาน จำนวน 67,772.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี2567 จำนวน 5,623.7 ล้านบาท

ทั้งนี้งบประมาณที่จะใช้ทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถูกจัดอยู่ในส่วนงบกลาง หมวดแผนงานบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ระบุว่า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายเม็ดเงินในพื้นที่ต่างๆ และเพื่อรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ เพิ่มสภาพคล่องแก่ประชาชนในการดำรงชีพและประกอบอาชีพ อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะที่งบประมาณในโครงการซอฟต์พาวเวอร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรูปแบบการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ โดยในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม อาทิ ค่าใช้จ่ายโครงการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ด้านการท่องเที่ยวให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ วงเงิน 15.5 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีงบประมาณเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ อาทิ โครงการเที่ยวไทย-มาเลย์ บนแนวคิดการสร้างพลังสร้างสรรค์ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวคุณภาพสูงของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่ท่องเที่ยวตามเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไทย-มาเลเซีย วงเงิน 5,585,900 บาท การจัดโครงการ MUAYTHAI SOFT POWER พลังแห่งการขับเคลื่อนสุขภาพและเศรษฐกิจของชาติ วงเงิน 5 ล้านบาท